วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561



การศึกษาการแข่งขันทักษะวิชาชีพ สาขามาตรวิทยามิติ ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตร
วิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคนิคการผลิต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
A study of competition skills professional metrology students of the Vocational Certificate (Diploma) in production technology, regional Northeastern.
รวิกร  แสงชำนิ 1*
สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 

บทคัดย่อ        
        การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปการปฏิบัติงานการแข่งขันทักษะวิชาชีพ  สาขามาตรวิทยามิติ ของนักศึกษา ศึกษาคุณลักษณะของนักศึกษา สาขาวิชาเทคนิคการผลิต และศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษา ด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ การวิจัยเป็นแบบผสานวิธี คือ วิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์ครูผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการ และวิจัยเชิงปริมาณ ศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษา  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา และหาค่าร้อยละความคิดเห็น  ผลการวิจัยพบว่า คุณลักษณะของนักศึกษาด้านการแต่งกายบางทีมไม่ถูกต้องตามระเบียบ การใช้เครื่องมือวัดบางชนิดไม่ถูกวิธี จับวางชิ้นงานกระทบกับผิวโต๊ะงาน ด้านคุณลักษณะของนักศึกษาที่พึงประสงค์ โดยทั่วไป มีความเรียบร้อยดี สุภาพ มีทักษะการปฏิบัติงานดี การใช้เครื่องมือพอใช้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความระมัดระวัง แก้ไขปัญหา มีไหวพริบปฏิภาณดี มีความเป็นผู้นำ มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือวัด ส่วนประเด็นการพัฒนา เช่น บางทีมขาดความเข้าใจในการหลักการอ่านแบบหรือจุดอ้างอิง การประยุกต์ใช้เครื่องมือก่อนทำการวัด ความประณีต นุ่มนวล ความชำนาญในการใช้เครื่องมือวัด และการวิเคราะห์ค่าร้อยละความคิดเห็น ได้แก่ ความต้องการที่จะประกอบอาชีพ ด้านมาตรวิทยามิติ อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 59.68 การประยุกต์ทักษะในการสอบภาคปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 56.45 มีความเข้าใจการใช้เครื่องมือวัด อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 51.61 ส่วนค่าร้อยละที่มีค่าน้อย ได้แก่ นักศึกษามีทัศนคติเกี่ยวกับมาตรวิทยามิติ อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 43.55 การประยุกต์ความรู้ในการสอบภาคทฤษฎี อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 43.55 และมีทักษะการปฏิบัติงานใช้เครื่องมือวัด อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 43.55 เป็นต้น
คำสำคัญ การแข่งขันทักษะวิชาชีพ, คุณลักษณะมาตรวิทยามิติ 
 Abstract

The Objective of this research to study the general condition operation of the contest the skills professional metrology dimension of the students learn the features of the students at the school of manufacturing techniques and study the opinions of the students the knowledge, skills and features. The Research is a mixed method is a qualitative research with the interview the teachers as the Board of Directors and research quantitative study the opinions of the students to analyze data with the synthesis of content and find the percent value your feedback. Research has found that the features of the students to dress some of the team is not valid with use of tools to measure certain types is not how to handle the target to affect the skin of the table of the features of the students of the adverse event are generally well mannered skills with the best use of tools fair has the strong intention to be careful solve the problem has wit, is the knowledge of the ability to use the Measure Tool. The issue of the development of such as some teams lack of understanding of the read or a reference point to the application using the tools to measure the sophisticated Soft Skills to Use the Measure Tool. And analysis of the percent value your opinions are the need to pursue the metrology d is in the level of 59.68 percent to the application skills in the exam practice in the many levels of 56.45 understand the use of the tool is measured in the level of 51.61%. The Percentage value is less: Students have the attitude about metrology d is in the level of many percentage changes to the application of knowledge in the exam. The theory is in the medium level of percentage changes and have the skills to use the Measure tool is in the medium level of percentage changes, etc.
Keywords: The Accounting Profession skills, Attribute, Metrology 
1.  บทนำ
       การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมอย่างต่อเนื่อง จากภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีการสื่อสาร และก้าวย่างต่อไปอีก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของคนหลายด้าน จากปรากฏการณ์เหล่านี้ จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ได้อย่างปกติ [1] ซึ่งในการปรับตัวให้สอดคล้องอีกวิธีการหนึ่ง คือ การศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบาย เตรียมการศึกษาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ซึ่งการอาชีวศึกษา ได้กำหนดนโยบาย  มุ่งสร้างและผลิตกำลังคนตามสาขาอาชีพ สนองความต้องการสถานประกอบการ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ใหม่ สร้างค่านิยมด้านวิชาชีพ ปลูกฝังจิตสำนึกการบริการทางสังคม สามารถประกอบอาชีพได้ [2] จากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจองค์ความรู้ (Knowledge Economy) ทำให้องค์การต่าง ๆ ต้องเผชิญกับการแข่งขัน จึงตระหนักในการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถ ตรงตามความต้องการในสถานประกอบการ สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน [3]      
        การอาชีวศึกษาของไทยมีปัญหาการขาดครูเฉพาะด้าน ครูขาดแรงจูงใจในการสอนอย่างมีคุณภาพ  ค่านิยมการเข้าเรียนด้านอาชีวศึกษามีจำนวนน้อย รวมทั้งผู้เรียนในบางสถานศึกษา สร้างปัญหาทางสังคม ส่งผลกระทบต่อภาพรวมส่วนใหญ่ และ[4] กล่าวว่าอาชีวศึกษาผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากให้ความสำคัญกับมิติเชิงปริมาณมากกว่ามิติเชิงคุณภาพ จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจต่อสังคมใหม่ ตามนโยบายของ [5] โดย ดำเนินโครงการปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา เปลี่ยนค่านิยมให้เด็กมาเรียนสายอาชีพ จัดนักศึกษาไปบริการแก่ชุมชน เช่น การซ่อมแซมไฟฟ้า ประปา และเครื่องมือต่าง ๆ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ ส่วนประเด็นผู้เรียนในอาชีวศึกษาบางแห่งที่มีคุณลักษณะไม่พึงประสงค์ รวมทั้งโลกปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ มีทักษะ มีความสามารถมากขึ้น  มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ [6]
       การพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามกรอบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของ [7] กล่าวว่า ผู้เรียนควรได้รับการฝึกอบรมสร้างประสบการณ์ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน การศึกษาบริบททางวัฒนธรรมและการเมือง การมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การศึกษาโปรแกรมการสอนแบบดิจิตอล เป็นต้น และงานมาตรวิทยามิติ เป็นรายวิชาในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคนิคการผลิต ซึ่งเป็นงานอาชีพที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ซึ่งสอนให้ผู้เรียนได้มีคุณลักษณะ มีความรู้ความเข้าใจ มีความสามารถการใช้เครื่องมือวัดในงานอุตสาหกรรม เพื่อวัดขนาดชิ้นงานการผลิต ให้มีค่าพิกัดตามแบบที่กำหนด นำชิ้นส่วนไปทำการสวมประกอบเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของโรงงานได้อย่างมีคุณภาพ        
      จากปัญหาของผู้เรียนอาชีวศึกษา ด้านความรู้ ความสามารถ การมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และความสำคัญทางอาชีพงานมาตรวิทยามิติ ที่ผู้เรียนจะไปเป็นแรงงานในสถานประกอบการด้านการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลต่อไป จึงทำการศึกษาข้อมูลของนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาเทคนิคการผลิต และเป็นตัวแทนของสถานศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าทำการแข่งขันทักษะวิชาชีพ  ด้วยการวิจัย  การศึกษาการแข่งขันทักษะวิชาชีพ สาขามาตรวิทยามิติ ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการผลิต สังกัดสถานศึกษาอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีการศึกษา 2558 โดยใช้กรณีศึกษา วิจัยนักศึกษาที่เป็นตัวแทนผู้เข้าแข่งขัน เพื่อจะได้นำข้อค้นพบจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์และเสนอแนะหน่วยงานสถานศึกษา หรือครูผู้สอน รวมทั้งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับสถานศึกษา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป 
2. วัตถุประสงค์การวิจัย
   1. เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปการปฏิบัติงานการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ของนักศึกษา
   2. เพื่อศึกษาคุณลักษณะของนักศึกษา ตามมาตรฐานวิชาชีพ สาขาวิชาเทคนิคการผลิต สถานศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    3.  เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษา ด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ 
3.  วิธีดำเนินการวิจัย
       3.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง                  
             การวิจัยครั้งนี้วิจัยในงานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย การแข่งขันทักษะวิชาชีพ และทักษะพื้นฐาน ระดับภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีการศึกษา 2558 ที่วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ ประชากรประกอบด้วยครู และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาเทคนิคการผลิต เทคนิคอุตสาหกรรม ในสถานศึกษาอาชีวศึกษา จำนวน 40 วิทยาลัย
             กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ครูที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการกลางจัดการแข่งทักษะวิชาชีพ  จำนวน 12 คน และนักศึกษาที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันทักษะวิชาชีพ จำนวน 76 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง
       3.2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
            3.2.1 แบบสัมภาษณ์ เป็นแบบกึ่งโครงสร้าง กำหนดรายการคุณลักษณะของนักศึกษา ให้ตอบตามประเด็นหรือให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เขียนอธิบายคุณลักษณะของนักศึกษาที่พบเห็นขณะทำการควบคุมการแข่งขันเพิ่มเติมได้ โดยดำเนินการเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน หลังจากนั้นผู้วิจัยนำข้อมูลไปทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
              3.2.2 แบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษา ตามประเด็น เป็นแบบมาตรประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ โดยสอบถามระดับความคิดเห็นในสมรรถนะทางวิชาชีพการปฏิบัติงานการวัดชิ้นส่วน สาขามาตรวิทยามิติ
        การสร้างเครื่องมือแบบสัมภาษณ์และแบบสอบถาม โดยการศึกษาเอกสาร (Documentary Study) หลักการและวิธีการปฏิบัติในการแข่งขันทักษะวิชาชีพ และทฤษฎีมาตรวิทยาอุตสาหกรรม จากเอกสารทางวิชาการ นำข้อมูลที่ได้สร้างแบบสอบถามฉบับร่างภายใต้กรอบสมรรถนะทางอาชีพที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบและขอคำแนะนำจากครูผู้สอน ครูผู้ควบคุมการแข่งขัน ในสาขาวิชาเทคนิคการผลิต แล้วทำการปรับปรุงแก้ไข
       3.3 การวิเคราะห์ข้อมูล
        การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์  และแบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์  ดังนี้
           3.3.1 ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ได้ทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) วิเคราะห์ประเด็นสำคัญ เรียบเรียงเป็นภาษาทางวิชาการ สรุปสาระสำคัญของผู้ตอบคำถามทั้งแนวคิด ข้อเสนอแนะ แนวทางวิธีการที่เหมาะสม สรุปเป็นความเรียง
           3.3.2 ข้อมูลการตอบแบบสอบถามของนักศึกษา ทำการวิเคราะห์สถิติพื้นฐาน ประกอบด้วย ค่าร้อยละ         
 4. สรุปผล                
     4.1 สภาพทั่วไปการปฏิบัติงานการแข่งขันทักษะวิชาชีพ
      4.1.1  การแข่งขันทักษะวิชาชีพ สาขามาตรวิทยามิติ ปี 2558 ณ วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ โดยสาขาวิชาช่างกลโรงงาน ผู้เข้าแข่งขันเป็นนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าแข่งขัน 38 วิทยาลัย ๆ ละ 2 คน มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะมาตรวิทยามิติ ตามเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของรูปทรงเรขาคณิต (GD&T) ให้แก่นักศึกษา เพื่อให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถจากการศึกษาเล่าเรียนมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ในการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ ความสามารถของนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และเป็นการยกระดับทักษะฝีมืองานอาชีพ
        4.1.2 การสังเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์ครูผู้ควบคุมการแข่งขัน ดังนี้ นักศึกษาสวมใส่กางเกงยีน ไม่สวมถุงเท้า บางคนหนวดยาว เช็ดทำความสะอาดเกจบล็อกวนไปมา ใช้เกจบล็อก
ไม่ถูกต้อง  การใช้ไดแอลเทสไม่ถูกวิธี ลากเกจบล็อกบนโต๊ะงาน ใช้ไมโครมิเตอร์ไม่ถูกต้อง ลากปากวัดเวอร์เนียร์ไฮเกจ
บนชิ้นงาน กดปลายไดแอลเทสกระแทกผิวงาน จับชิ้นงานชนกับปลายขีดของเวอร์เนียร์ไฮเกจ วางชิ้นงานกระแทกผิวโต๊ะงาน ไม่ทำความสะอาดเครื่องมือวัด ไม่ได้จัดเก็บไมโครมิเตอร์ และเวอร์เนียร์ วางชิ้นงานหรือเครื่องมือไม่อยู่ตำแหน่งที่กำหนด
    4.2 คุณลักษณะของนักศึกษา
           4.2.1 ด้านการแต่งกายมีความเรียบร้อยดี บุคลิกภาพดี สะอาด สุภาพ และประเด็นการพัฒนา เช่น บางคนไม่สวมถุงเท้า ไว้หนวด สวมกางเกงยีน
           4.2.2 ด้านการปฏิบัติงาน บางทีมมีทักษะปฏิบัติงานดีมาก มีความมุ่งมั่นตั้งใจดี มีความระมัดระวัง และประเด็นการพัฒนา บางทีมขาดความสามัคคี ความเข้าใจในการอ่านแบบ จุดการวัด การปรับเครื่องมือใช้งานไม่ถูกต้อง ใช้เครื่องมือผิดวิธี วัดไม่เป็นไปตามขั้นตอน ขาดความประณีต ความนุ่มนวล เกิดการกระทบกันระหว่างชิ้นงานกับเครื่องมือวัด
     4.2.3 ด้านการตัดสินใจ แก้ไขปัญหา มีไหวพริบปฏิภาณดี มีความเป็นผู้นำ ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้ ตัดสินใจร่วมกัน มีการยอมรับซึ่งกันและกัน วางแผนการวัด แบ่งหน้าที่การวัดและจดบันทึก และประเด็นการพัฒนา บางทีมการดูแบบและศึกษาจุดอ้างอิงไม่ชำนาญ ไม่มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน และการประยุกต์เครื่องมือ
     4.2.4 ด้านคุณลักษณะตามมาตรฐานวิชาชีพ มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือ ใช้เครื่องมือวัดอย่างมีประสิทธิภาพในบางทีม แต่ไม่ครบวงจรการสอบเทียบเครื่องมือวัดและการแปรผลการสอบเทียบ และประเด็นการพัฒนา การใช้เครื่องมือ การอ่านแบบ บางทีมขาดทักษะการวัด และวัดไม่ถูกวิธี เสี่ยงต่อความเสียหายของเครื่องมือ ไม่ประกอบชิ้นส่วนของเครื่องมือให้ครบก่อนการวัด                         
     4.2.5 ข้อสังเกตอื่น ๆ การแข่งขันมีความเป็นมาตรฐาน มีกระบวนการชัดเจน มีชิ้นงานที่เพิ่มทักษะการวัด นักศึกษามีความกระตือรือร้น มีความตั้งใจ และมีความสนใจ ควรให้คณะกรรมการได้มีการสรุปข้อผิดพลาดต่อผู้เข้าแข่งขันทุกทีม เพื่อปรับปรุงและทำความเข้าใจตรงกัน และประเด็นการพัฒนา  การวัดตรวจสอบชิ้นงานบางทีมยังขาดความชำนาญโต๊ะระดับมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะกับฐานของเครื่องมือวัด
  4.3 ความคิดเห็นของนักศึกษา ผลการวิเคราะห์ ดังนี้
     4.3.1 ค่าร้อยละ ที่มีค่ามาก ได้แก่ นักศึกษาต้องการที่จะประกอบอาชีพ ด้านมาตรวิทยามิติ ร้อยละ 59.68 ประยุกต์ทักษะในการสอบภาคปฏิบัติ ร้อยละ 56.45 มีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือวัด ร้อยละ 51.61 และค่าร้อยละที่มีค่าน้อย ได้แก่ มีทัศนคติเกี่ยวกับมาตรวิทยามิติ ร้อยละ 43.55 ประยุกต์ความรู้ในการสอบภาคทฤษฎี ร้อยละ 43.55 มีทักษะปฏิบัติงานใช้เครื่องมือวัด ร้อยละ 43.55   
          4.3.2  เปรียบเทียบความคิดเห็นของนักศึกษา ด้านความรู้ (Knowledge) นักศึกษามีความรู้ในทฤษฎี เพียงร้อยละ 6.45 ด้านทักษะ (Skills) นักศึกษามีทักษะปฏิบัติงานใช้เครื่องมือวัด เพียงร้อยละ 9.68    และด้านคุณลักษณะ (Attribute) นักศึกษามีทัศนคติเกี่ยวกับมาตรวิทยามิติ เพียงร้อยละ 16.13 
5.  อภิปรายผล 
    5.1 สภาพทั่วไป การแข่งขันทักษะวิชาชีพ ของสถานศึกษาสังกัดการอาชีวศึกษา เป็นการดำเนินงานตามนโยบาย ในแต่ละสาขาวิชา โดยสาขามาตรวิทยามิติ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะมาตรวิทยามิติ เพื่อให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ เพื่อเตรียมความพร้อม และยกระดับทักษะฝีมืองานอาชีพ การดำเนินงานได้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติว่าด้วยองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ของ [8] ในการจัดให้มีการประกวด แสดง แข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะพื้นฐาน ปีการศึกษาละ 1 ครั้งทุกปีในระดับสถานศึกษา ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ และในการแข่งขัน ได้ทำการศึกษา โดยการสัมภาษณ์ทำให้ทราบสภาพทั่วไปของนักศึกษา  เช่น สวมใส่กางเกงยีน ไม่สวมใส่ถุงเท้า บางคนมีหนวดยาว ทำความสะอาดเครื่องมือไม่ถูกต้อง  ลากเกจบล็อกบนโต๊ะ ลากปากวัดเวอร์เนียร์ไฮเกจบนชิ้นงาน  จับชิ้นงานชนกับปลายขีดของเวอร์เนียร์ไฮเกจ วางชิ้นงานกระแทกผิวโต๊ะงาน ไม่ได้จัดเก็บเครื่องมือหรือวางชิ้นงานไม่อยู่ตำแหน่งที่กำหนด ซึ่งการปฏิบัติของนักศึกษาที่เกิดขึ้นลักษณะเช่นนี้ควรที่จะต้องมีการแก้ไข ตามที่ฮาร์ฟแดน ฟาร์สตัด (Halfdan Farstad. 2009) อ้างถึงใน [9] กล่าวว่า นักเรียนสายอาชีพที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ ซึ่งผลจากการมีคุณภาพนั้นส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของครูผู้สอน ที่จัดกระบวนการสอน วิธีการศึกษา ให้ผู้เรียนได้มีความรู้ความสามารถ และในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ครูผู้สอนจะต้องปรับวิธีการสอน จัดหาเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้ ส่งผลต่อการรับรู้และมีประสบการณ์ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี
     5.2 คุณลักษณะของนักศึกษา ด้านการแต่งกายมีความเรียบร้อยดี บุคลิกภาพดี ด้านการปฏิบัติงาน บางทีมมีทักษะการปฏิบัติงานดีมาก มีความมุ่งมั่นตั้งใจดี มีความระมัดระวัง   ด้านการตัดสินใจ แก้ไขปัญหา มีไหวพริบปฏิภาณดี มีความเป็นผู้นำ ตัดสินใจร่วมกัน แบ่งหน้าที่การวัดและจดบันทึก   ด้านคุณลักษณะตามมาตรฐานวิชาชีพ มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือ ใช้เครื่องมือวัดอย่างมีประสิทธิภาพในบางทีม และข้อสังเกตใน การแข่งขันมีความเป็นมาตรฐาน มีกระบวนการชัดเจน  มีชิ้นงานเพิ่มทักษะการวัด นักศึกษามีความกระตือรือร้น ตั้งใจ และมีความสนใจ ควรให้คณะกรรมการสรุปข้อผิดพลาดต่อผู้เข้าแข่งขันทุกทีม เพื่อปรับปรุงและทำความเข้าใจตรงกัน  ผลของการมีคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้ของนักศึกษา ย่อมหมายถึงคุณภาพของครูผู้สอน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย [10] ที่จะส่งเสริมครู ให้มีภูมิความรู้ มีทักษะถ่ายทอดความรู้ได้เหมาะสม และทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนด้านการคิดวิเคราะห์ ทักษะความสามารถ สร้างหลักค่านิยม และการมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป
         ส่วนคุณลักษณะที่พบ เช่น การแต่งกายนักศึกษาบางคน  บางทีมขาดความสามัคคี ความเข้าใจในการอ่านแบบ การปรับเครื่องมือใช้งานไม่ถูกต้อง ใช้เครื่องมือผิดวิธี วัดไม่เป็นไปตามขั้นตอน  ขาดความประณีต ความนุ่มนวล ไม่มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน  บางทีมขาดทักษะความชำนาญ ในการวัด และวัดไม่ถูกวิธี เสี่ยงต่อความเสียหายของเครื่องมือ โต๊ะระดับมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะกับฐานของเครื่องมือวัด ซึ่งการดำเนินการพัฒนานักศึกษาเป็นหน้าที่ของครูตามที่ [11] กล่าวว่า บทบาทของครูในศตวรรษที่ 21 คือ การสนับสนุนผู้เรียนให้เรียนรู้เต็มศักยภาพ มี 4 ขั้นตอน คือ การสังเกต การสร้างหลักการ การทดลองใช้ และการสร้างประสบการณ์ ให้เป็นวงจรซ้ำ ๆ ซึ่งครูจะทำหน้าที่ในการประเมินความรู้ของผู้เรียน แล้วนำมาทำการออกแบบการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียน สังเกตเป็นรายบุคคล ให้คำแนะนำ (Formative Feed Back) ให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง    
    5.3 ความคิดเห็นของนักศึกษา มีนักศึกษาจำนวนมากต้องการที่จะประกอบอาชีพ ด้านมาตรวิทยามิติ มีความสามารถประยุกต์ทักษะในการสอบภาคปฏิบัติได้ และมีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือวัด ส่วนนักศึกษาจำนวนน้อยที่มีทัศนคติเกี่ยวกับมาตรวิทยามิติ มีทักษะปฏิบัติงานใช้เครื่องมือวัด  และเปรียบเทียบความคิดเห็นในระดับมากที่สุดของนักศึกษา ด้านความรู้ (Knowledge) นักศึกษามีความรู้ด้านทฤษฎี เพียงร้อยละ 6.45 ด้านทักษะ (Skills) นักศึกษามีทักษะปฏิบัติงานใช้เครื่องมือวัด เพียงร้อยละ 9.68    และด้านคุณลักษณะ (Attribute) นักศึกษามีทัศนคติเกี่ยวกับมาตรวิทยามิติ เพียงร้อยละ16.13  ซึ่งความคิดด้านต้องการของผู้เรียนนั้นจะต้องให้การสนับสนุนหรือนำเสนอข้อมูลการเรียนรู้ต่อไป ส่วนด้านการมีทัศนคติ การมีทักษะ การมีความรู้ ของผู้เรียนที่ค่าร้อยละน้อย นั้น จึงเป็นสิ่งที่ครูจะต้องทำการพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามที่ [12] กล่าวว่า การปฏิรูปที่ได้ผล คือ การปฏิรูปครูอาจารย์และผู้บริหาร พัฒนาครู อาจารย์ ให้มีความรู้ ความสามารถ จัดฝึกอบรมใหม่แบบเน้นภาคปฏิบัติ สามารถออกแบบการสอนแบบใหม่ได้ ปฏิรูปการเรียนการสอน เน้นผลลัพธ์ที่สมรรถนะเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะ เช่น การอยากรู้อยากเห็น รักการเรียนรู้ มีความคิดริเริ่ม มีความเป็นผู้รับผิดชอบ มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ สามารถประยุกต์ใช้เป็น สามารถแก้ปัญหา เรียนรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง 
 6. ข้อเสนอแนะ
      1. การพัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษา ให้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ถือเป็นวาระที่สำคัญ
    2. การนำความต้องการของนักศึกษา เป็นตัวกำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอน
    3. การสนับสนุนงบประมาณการจัดหาเครื่องมือวัดด้านมาตรวิทยามิติ และอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย อย่างเหมาะสม เพื่อการพัฒนาทักษะของผู้เรียน

     ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
        1. การวิจัยพัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือวัดด้านมาตรวิทยามิติ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
         2. การวิจัยสภาพปัญหาและความต้องการ การเรียนวิชามาตรวิทยาอุตสาหกรรม กรณีศึกษา
         3. การวิจัยรูปแบบการพัฒนาครูผู้สอนวิชามาตรวิทยามิติ ตามสภาพท้องถิ่นของสถานศึกษา โดยใช้กระบวนการวิจัยแบบชาติพันธ์วรรณนา
         4. การศึกษาเปรียบเทียบสภาพปัญหาและความต้องการในการสอนวิชามาตรวิทยา ของครูผู้สอนในสถานศึกษาที่แตกต่างกัน

กิตติกรรมประกาศ
        ขอขอบพระคุณผู้อำนวยการสมพงษ์ แสนบุตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างกาฬสินธุ์ และผู้อำนวยการดำรงเดช สุริยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร ที่ปรึกษาการวิจัย ขอขอบคุณครูบรรพต มหาคาม และคณะครู วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ ที่สนับสนุนสถานที่การวิจัย ขอบคุณคณะกรรมการจัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพสาขามาตรวิทยาทุกท่าน และขอขอบคุณนักศึกษาผู้ตอบแบบสอบถามทุกคน 
เอกสารอ้างอิง 
[1]     ลิขิต  ธีรเวคิน. การปรับตัวในยุคโลกาภิวัตน์ และการเตรียมตัวเข้า  
          เป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย.   เอกสาร  
          ประกอบการบรรยาย วิทยาลัยสื่อสา การเมือง.  กรุงเทพฯ :
          มหาวิทยาลัยเกริก, 2554, หน้า 1.    
[2]     สำนักอำนวยการ.  วิสัยทัศน์ พันธกิจ  สำนักงานคณะกรรมการการ 
          อาชีวศึกษา.  กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ, 2551, หน้า 3.
[3]   พิชิต  เทพวรรณ์.  A-Z เครื่องมือการจัดการทรัพยากรมนุษย์
          สมัยใหม่.     กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น,   2555, หน้า 111.   
[4]   เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์.   วิสัยทัศน์อาชีวศึกษาควรมุ่งสู่
          อาชีวศึกษาเฉพาะทางระดับโลก”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก   
      www. Kriengsak.com  สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2555, หน้า 2.  
[5]   ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์.  อาชีวะจัดหนักปรับภาพลักษณ์ กระตุ้น
           เรียนสายอาชีพเพิ่ม.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก    
       http://m.matichon.co.th   เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2559. 2557, หน้า 1.        
 [6]   พศิน แตงจวง.  รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรทาง
            การศึกษา.  กรุงเทพฯ : ดวงกมลพับลิชชิ่ง, 2554, หน้า 51.  

[7]   เบลลันกา เจมส์ และแบรนด์ รอน.    ทักษะแห่งอนาคตใหม่ :
          การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส,  2554,
           หน้า 376.   
[8]   สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา. ระเบียบสำนักงาน
          คณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่าด้วยองค์การนักวิชาชีพใน 
           อนาคตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2557.  แนวปฏิบัติประกอบ
           ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่าด้วยองค์การ
           นักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับ
           ปรับปรุง 2558). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการ
            อาชีวศึกษา, 2558, หน้า 49-50.
  [9]   ดวงนภา  มกรานุรักษ์.    อนาคตภาพของการอาชีวศึกษาไทย
             ในทศวรรษหน้า (พ.. 2554 - 2564). วิทยานิพนธ์ปริญญา
              ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา.   บัณฑิต
              วิทยาลัย.  ขอนแก่น :  มหาวิทยาลัยขอนแก่น,  2554, หน้า 93. 
  [10]    กระทรวงศึกษาธิการ. นโยบายรัฐมนตรีว่าการ
                กระทรวงศึกษาธิการ.  กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ, 2557, 
                หน้า 1-6.   
  [11]   วิจารณ์ พานิช.    เอกสารประกอบการบรรยาย : บทบาทของ
                ครูในศตวรรษที่ 21 งานสัมมนาระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชา
                การบริหารการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
                ครั้งที่ 6.  วันที่ 1 มีนาคม 2557. เลย : มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย,
          2557, หน้า 2.     
  [12]   วิทยากร เชียงกูล. รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2557/2558 
                จะปฏิรูปการศึกษาไทย
                ให้ทันโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร.  กรุงเทพฯ :
                มหาวิทยาลัยรังสิต, 2558 หน้า 7-8.   






ไม่มีความคิดเห็น: