วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561


การศึกษาปัญหาและแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะความคิดสร้างสรรค์ ของนักศึกษา
ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์
The Study of Problems and guidelines for Developing students' Creative Competencies.
Vocational Certificate (Diploma) in Production Technology. Surin Technical College.
รวิกร  แสงชำนิ  1* 
สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 

บทคัดย่อ
       การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหาการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาในการเรียนวิชาโครงการ เพื่อศึกษาแนวทาง แนวคิดของนักศึกษา ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยเป็นแบบเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์นักศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการผลิต ที่เรียนวิชาโครงการ โดยการสุ่มแบบง่าย จำนวน 20 คน การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา และหาค่าร้อยละของความคิดเห็น ผลการวิจัย 1) ปัญหาการสร้างความคิดสร้างสรรค์ ด้านความสนใจ ร้อยละ 60 นักศึกษาไม่มีความสนใจ ไม่เข้าใจหลักการในวิชาโครงการ มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ความไม่พร้อม ส่วนด้านความกล้า นักศึกษา ร้อยละ 65 ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ไม่กล้าแสดงความเห็น ด้านความเอาใจใส่ นักศึกษามีงานในวิชาที่เรียนมาก ไม่เอาใจใส่งานเต็มที่ ร้อยละ 55 ส่วนความสนใจเรียนรู้ นักศึกษาไม่กล้าพูด ไม่อยากรู้เรื่องอะไร ด้านความสามารถการแก้ปัญหา มีปัญหาการจัดหาวัสดุอุปกรณ์  ชิ้นงานที่ผลิตมีความยาก ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่สร้างถอดไม่ได้ ร้อยละ 35 แก้ไขปัญหาได้บางอย่าง ไม่รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้านความสนใจในสิ่งใหม่ นักศึกษาไม่สนใจ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งใหม่ อาจไม่ประสบผล ร้อยละ 30 ด้านการยอมรับความคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 40 นักศึกษาไม่ค่อยได้คิดสร้างสรรค์ ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น 
     2)  แนวทางหรือแนวคิดในการคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา ด้านความสนใจ โดยทำการศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น การสอบถามครู การขอคำปรึกษาแนวทางด้านเทคโนโลยี ร้อยละ 35 ส่วนแนวคิดในการสร้างความกล้า คือ ต้องมีความกล้าในสิ่งที่ถูกต้อง  ปลุกความกล้าของตัวเอง การกล้าแสดงความคิดเห็น ร้อยละ 35 ด้านความเอาใจใส่ โดยการฝึกความรับผิดชอบ มีความเอาใจใส่กับเพื่อนร่วมทีม เสนอความคิดเห็นที่ดี มีการวางแผนงาน ลงมือทำอย่างเร็ว ร้อยละ 40 ส่วนความสนใจในการเรียนรู้ โดยการปรับปรุงตัวเอง ให้มีความตั้งใจ ร้อยละ 35 ด้านความสามารถการแก้ปัญหา ต้องดำเนินการแก้ไขด้วยตนเอง สอบถามครูผู้สอน คิดค้นหาวิธีการแก้ไขให้พบ ร้อยละ 40   ด้านความสนใจในสิ่งใหม่ โดยต้องมีการยอมรับและสนใจในสิ่งใหม่ๆ เปิดโอกาสให้กับตนเอง ร้อยละ 55 ด้านการยอมรับความคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ60 นักศึกษาให้การยอมรับและรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย แสดงความคิดเห็นร่วมกัน การระดมสมอง เป็นต้น
 คำสำคัญ วิชาโครงการความคิดสร้างสรรค์
Abstract
    This research the objective To study the problem of creativity of students in learning projects. To study The concept of student Of creativity The research is qualitative interviews with students in technical production. The study projects By simple random sampling of 20 people.  Data were analyzed with synthetic material. And the percentage of opinion research. 1) The problem of creativity in the interests of 60 percent of students do not pay attention. Do not understand the principles of project Opinion does not match with the top 65 percent of students do not dare to do something new. Not shown The attention Students in many classes. Disregard for fully 55 percent of the interest to learn. Students dare not speak I do not know what. The ability to solve problems Problems with the supply of equipment Pieces that are difficult to produce. Remove the pieces of equipment that generates 35 percent did not fix it. No known workaround The interest in new things Students not interested No creativity to do something new. May not achieve the 30 percent to 40 percent of students accepted creativity rarely creative. Do not listen to the opinions of others.
           2) approaches or ideas on how creative students interested in the study increased inquiries teacher consultation Technology Development 35 per cent of the concept of building courage is to have the courage thing. must Rouse the courage of its own Dare to comment on the 35 percent interest. By practicing responsible With respect to teammates. Comments Good Planning Act quickly to 40 percent. The interest in learning. By improving yourself 35 percent intend to have the ability to solve problems. Must be performed manually fix For Teachers Search for a solution to meet its 40 percent interest in something new. It must be accepted and interested in new things. Opportunity to own 55 percent of the creativity of 60 students to accept and listen to diverse opinions. Commenting on the joint brainstorming.
Keywords : Science project, creativity.

1.  บทนำ
       การเปลี่ยนแปลงปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว [1] ทุกคนจะอยู่ได้ในสังคมที่มีความซับซ้อน   ต้องได้รับการศึกษาหรือสร้างความเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อให้มีทักษะ (Skills) มีสมรรถนะ (Competencies) ให้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปรกติ ซึ่งทักษะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษ ที่ 21 (21th Century skills) หลักการ คือ ทุกคนที่เรียนไม่เพียงให้รู้แต่ในวิชาเท่านั้น จะต้องให้เกิดทักษะในชีวิตจริง เน้นด้านการฝึกฝน (Practice) ทักษะเชิงซ้อน ประกอบด้วยการมีความรู้ภาษา ศิลปะ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์  ความรู้เกี่ยวกับโลก สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความรู้ด้านนวัตกรรม คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ความรู้ด้านทักษะเทคโนโลยีและการสื่อสาร ความรู้การประกอบอาชีพ ความยืดหยุ่นและการปรับตัวเข้าสังคม การมีภาวะความเป็นผู้นำ เป็นต้น
    การเรียนรู้ของนักเรียนในปัจจุบัน [1] พบความแตกต่าง เช่น สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการมีสมาธิ การรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย การค้นหาความรู้ได้รวดเร็ว แต่ขาดการตรวจสอบ มีความสนใจในวัตถุนิยม  จากข้อมูลนี้ เป็นสิ่งสำคัญจะต้องศึกษาสภาพจริง เพื่อนำมาคิดสร้างสรรค์กระบวนการสอน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery learning) ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้เกิดจากการสรุปข้อมูลประสบการณ์ และอธิบายสาระสำคัญของวิชาที่สอน ให้เข้าใจแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน นักเรียนได้ลงมือทำและครูได้ช่วยแนะนำเป็นลักษณะโครงการ (Project) ฝึกการทำงานและค้นคว้าหาข้อมูล ครูพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน เปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็น มีหลายคำตอบ จะทำให้นักเรียนได้ฝึกคิดจากความเห็นที่แตกต่าง เกิดความคิดสร้างสรรค์นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงต่อไป และในสถานการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เป็นที่สนใจของแต่ละประเทศทั่วโลก [2] ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้จัดงบประมาณให้บุคลากรได้เรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนารูปแบบการสอนด้วยการนำปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) และนำความรู้ไปใช้จริง ซึ่งในภูมิภาคเอเชีย ประเทศเกาหลีใต้ ได้ทุ่มเทพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในสถานศึกษา ใช้งบประมาณพัฒนาการศึกษา ทำให้เป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หลายอย่าง และความคิดสร้างสรรค์ หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านสภาพแวดล้อม หรือการสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษา จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นด้อยลงได้
       ตามที่ [3] กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง การคิดสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น (Creative thinking) ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิมและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม หลักการของผู้มีคุณลักษณะความคิดสร้างสรรค์ของแกริสัน (Garison, 1954) อ้างใน [4] ประกอบด้วย 1) ความสนใจในปัญหา มีความกล้าในการแก้ไข 2) ความเอาใจใส่ สนใจเรียนรู้ 3) ความสามารถการแก้ปัญหาได้หลากหลายแนวทาง 4) ความสนใจในสิ่งที่พบใหม่ 5) การยอมรับผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์
       แผนงานและนโยบายด้านการศึกษา [5] โดยถือว่าการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนามนุษย์ ให้มีวิถีชีวิตที่ดี ในแผนงานประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน (A Blueprint for ASEAN Socio-Cultural Community) กำหนดเป้าหมายการลงทุนทางการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต การฝึกอบรมสร้างศักยภาพของประชากร สร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญต่อการสร้างสังคมฐานการเรียนรู้ จัดการศึกษาอย่างเสมอภาค และการอาชีวศึกษาเป็นหน่วยงานจัดการศึกษา พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อไปประกอบอาชีพ สร้างความเจริญและมีรายได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศที่มีความเจริญหรือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงงานด้านอาชีพ เพราะการศึกษาด้านอาชีพจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ  ซึ่งการเตรียมความพร้อมในปัจจุบัน ด้วยการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้ในวิชาชีพ เพื่อนำไปสร้างสรรค์หรือประดิษฐ์คิดค้นงานอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้นการยกระดับการอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยการพัฒนาความรู้ ความสามารถตามสาขาวิชาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญในการจัดการศึกษา ตามยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทย พ.. 2552 - 2561
        จากการสอนนักศึกษาในการเรียนวิชาโครงการ ที่ผ่านมา พบว่า นักศึกษามีปัญหาด้านการคิดแสวงหาผลงานที่จะสร้างหรือผลิต ปัญหาด้านการออกแบบ และปัญหาด้านการใช้วัสดุสำหรับสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ซึ่งในหลักสูตรการเรียนวิชาโครงการ [6] กำหนดจุดประสงค์ คือ ให้ผู้เรียนมีความตระหนัก และคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนางานวิชาชีพ สามารถปฏิบัติงานการวางแผน นำเสนองาน แก้ไขปัญหาจากการทำงาน มีกิจนิสัยที่ดี รอบคอบและปลอดภัย มีจริยธรรมในงานอาชีพ เป็นต้น ส่วนคุณลักษณะของผู้เรียน ประกอบด้วย นักศึกษาจะต้องนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการเรียน ด้วยการออกแบบ การสร้างเครื่องมือ อุปกรณ์ทางด้านวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีหรือมีความเหมาะสมตามท้องถิ่น ซึ่งผลงานที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างดี ดังนั้นหากได้มีการพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษาด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยการนำหลักการคุณลักษณะการมีความคิดสร้างสรรค์ของแกริสัน (Garison,1954)  มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนา จะทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ เกิดประสบการณ์และมีแนวคิดในการสร้างผลงานในการเรียนวิชาโครงการของนักศึกษารุ่นต่อไปได้ดีขึ้น ผู้วิจัยจึงสนใจทำการศึกษาการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนอาชีวศึกษา ด้านความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนวิชาโครงการ ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์            
2.  วัตถุประสงค์
          1. เพื่อศึกษาปัญหาการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาในการเรียนวิชาโครงการ
          2. เพื่อศึกษาแนวทาง แนวคิดของนักศึกษา ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์
3.  วิธีการวิจัย
       3.1 ขอบเขตการวิจัย
            3.1.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ที่เรียนวิชาโครงการ ภาคเรียนที่ 2 ปี 2558 จำนวน 75 คน
             กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการผลิต เลือกแบบเจาะจง นักศึกษาสาขางานเครื่องมือกล และใช้วิธีการสุ่มแบบง่าย [7] โดยการจับฉลากชื่อ จำนวน 20 คน ดำเนินการสัมภาษณ์ หลังเสร็จสิ้นการเรียนวิชาโครงการ
         3.1.2 ขอบเขตด้านเนื้อหา ใช้หลักการความคิดสร้างสรรค์ของ แกริสัน (Garison,1954) ดังนี้ 1) ด้านความสนใจ ความกล้า 2) ด้านความเอาใจใส่ สนใจเรียนรู้ 3) ด้านความสามารถแก้ปัญหา 4) ด้านความสนใจในสิ่งใหม่  และ 5) ด้านการยอมรับความคิดสร้างสรรค์
        3.2 เครื่องมือในการวิจัย เป็นแบบสัมภาษณ์ แบบมีโครงสร้าง ขอบเขตเนื้อหาตามหลักการความคิดสร้างสรรค์ของ แกริสัน (Garison,1954) เป็นแนวทางในการสัมภาษณ์ และตัวแปรตาม คือ ปัญหาและแนวทาง การสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา ในการเรียนวิชาโครงการ  หลังจากนั้นผู้วิจัยนำข้อมูลไปทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหา
             การสร้างเครื่องมือแบบสัมภาษณ์ โดยการศึกษาเอกสาร (Documentary Study) หลักการและวิธีการด้านการสร้างความคิดสร้างสรรค์ นำข้อมูลที่ได้สร้างแบบสอบถามฉบับร่าง ทำการตรวจสอบและขอคำแนะนำจากครูผู้สอนวิชาโครงการในวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ แล้วทำการปรับปรุงแก้ไข
       3.3 การวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
            3.3.1 ข้อมูลการสัมภาษณ์ ได้ทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ประเด็นด้านปัญหา ด้านแนวทางหรือแนวคิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สรุปเป็นความเรียง ด้านปัญหา และแนวทางวิธีการที่เหมาะสม 
           3.3.2 วิเคราะห์ข้อมูลความเรียง ด้วยสถิติพื้นฐาน การแจกแจงความถี่ และค่าร้อยละ          

4.  สรุปผล
      4.1. ปัญหาการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา
        4.1.1 ด้านความสนใจ และความกล้า ปัญหา คือ ร้อยละ 60 ของนักศึกษาไม่มีความสนใจ เนื่องจากไม่เข้าใจหลักการในวิชาโครงการ มีความคิดเห็นไม่ตรงกันภายในกลุ่ม มีความยากลำบากในการทำงาน ความไม่พร้อมเพราะเรียนหลายวิชา และนักศึกษาไม่มีความคิดเห็นในความสนใจวิชาโครงการ ร้อยละ 15 ส่วนด้านความกล้า ปัญหา คือ นักศึกษาจำนวนร้อยละ 65 ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ไม่กล้าสร้างเครื่องด้วยตนเอง ไม่กล้าแสดงออกหรือแสดงความเห็น
             4.1.2 ด้านความเอาใจใส่ หรือความสนใจเรียนรู้ ปัญหา คือ นักศึกษาไม่เอาใจใส่หรือใส่ใจบ้างไม่ใส่ใจบ้าง เนื่องจากมีเวลาน้อย มีงานในวิชาที่เรียนมาก เหนื่อยล้าจากการเรียนวิชาอื่น เล่นกันไม่สนใจเวลาเรียน เอาใจใส่งานไม่เต็มที่ ร้อยละ 55 และนักศึกษาไม่มีความเห็น เรื่องความเอาใจใส่การเรียนร้อยละ 15 ส่วนความสนใจเรียนรู้ ปัญหา คือ นักศึกษาไม่กล้าพูด ยังไม่มีความสนใจเท่าไรนัก ชอบคุยกัน ไม่อยากรู้เรื่องอะไร ร้อยละ 40 และไม่มีความเห็นความสนใจเรียนรู้ ร้อยละ 25
        4.1.3 ด้านความสามารถในการแก้ปัญหา นักศึกษามีปัญหาด้านการจัดหาวัสดุในการสร้าง เครื่องมือในการตัดวัสดุแผ่น อุปกรณ์ประกอบเครื่องมือไม่ครบ การออกแบบชิ้นส่วน การแก้ปัญหาใบมีดตัด เครื่องจักรที่สร้างทำงานไม่ราบรื่น การจับชิ้นงานที่ผลิตมีความยาก ชิ้นส่วนที่สร้างถอดไม่ได้ ร้อยละ 35 และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้บางอย่าง หรือแก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้ ไม่รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาโดยฟังความเห็นของกลุ่ม ร้อยละ 30
           4.1.4 ด้านความสนใจในสิ่งใหม่ ปัญหา คือ นักศึกษาไม่สนใจ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งใหม่ ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ค่อยคิดหาสิ่งใหม่ หากทำการปฏิบัติแล้วอาจไม่เกิดความชำนาญหรือไม่ประสบผลได้ ร้อยละ 30 และนักศึกษาไม่มีความเห็นเรื่องความสนใจในสิ่งใหม่ มาถึงร้อยละ 35
        4.1.5 ด้านการยอมรับความคิดสร้างสรรค์ ปัญหา คือ นักศึกษาไม่ค่อยได้คิดสร้างสรรค์ ไม่กล้ายอมรับสมาชิก บางคนไม่ฟังความเห็นคนอื่น อยากทำแต่ของเดิมๆ ไม่มีการประชุมเสนอแนะความเห็น มีความเห็นน้อย ความคิดเพื่อนต่างกัน ร้อยละ 40 และนักศึกษาไม่มีความเห็นในการยอมรับความคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 25               
     4.2 แนวทางหรือแนวคิดของนักศึกษาในการสร้างความคิดสร้างสรรค์
          4.2.1 ด้านความสนใจ และความกล้า พบว่า นักศึกษามีแนวทางในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ คือ การศึกษาเรียนรู้ โดยทำการศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น การสอบถามครู การขอคำปรึกษาแนวทางด้านเทคโนโลยี รูปแบบลักษณะงาน หรือการรับฟังความเห็นจากผู้อื่น ร้อยละ 35 และนักศึกษาไม่มีความเห็นในความสนใจวิชาโครงการ ร้อยละ 15 ส่วนแนวคิดในการสร้างความกล้า คือ ต้องมีความกล้าในสิ่งที่ถูกต้อง  มีสติในการทำงาน การปลุกความกล้าของตัวเอง การสร้างความพยายามให้มากขึ้น การกล้าแสดงความคิดเห็น การแสดงออกจะทำให้เกิดความเคยชิน ต้องมีความกล้าที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ จะมีประสิทธิภาพหรือไม่ก็ตาม มีแนวทางในการคิด กล้าเสนอ แสดงความเห็น รวมทั้งการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ ร้อยละ 35 และนักศึกษาไม่มีความคิดเห็น ร้อยละ 5
               4.2.2 ด้านความเอาใจใส่ หรือความสนใจเรียนรู้ นักศึกษามีแนวทางพัฒนาตนเอง โดยการฝึกความรับผิดชอบ มีความเอาใจใส่กับเพื่อนร่วมทีม เสนอความคิดเห็นที่ดี มีการวางแผนงาน เตรียมวัสดุในการจัดทำ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ การกระตุ้นตนเองในการทำงาน หรือปลุกเร้าเพื่อนให้กระตือรือร้น มีความขยันเอาใจใส่ต่องาน และลงมือทำอย่างเร็ว ร้อยละ 40 และมีนักศึกษาไม่มีความคิดเห็นเรื่องความเอาใจใส่ ร้อยละ 10 ส่วนความสนใจในการเรียนรู้ พบว่า นักศึกษามีแนวทางในการปฏิบัติตน โดยทุกคนต้องตั้งใจฟัง มีสมาธิต่อการเรียน และมีความสนใจมากขึ้น ปรับปรุงตัวเอง แก้ไขหลักการของชิ้นงานให้มีประสิทธิภาพ หาข้อผิดพลาดและสอบถามผู้ชำนาญ เพื่อให้การผลิตงานหรือชิ้นส่วนออกมาดี มีความใส่ใจกับงาน หาความรู้ด้านสิ่งประดิษฐ์มาประยุกต์ สนใจที่จะสร้างสรรค์ เรียนรู้ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ร้อยละ 35 และจำนวนนักศึกษาไม่มีความเห็นเรื่องความสนใจในการเรียนรู้ ร้อยละ 15
        4.2.3 ด้านความสามารถในการแก้ปัญหา พบว่า นักศึกษาต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองหรือการสอบถามเพื่อนในกลุ่ม หรือควรมีเพื่อนร่วมงานช่วยทำการแก้ไข หรือเมื่อแก้ไขไม่ได้ก็ไปสอบถามครูผู้สอน คิดค้นหาวิธีการแก้ไขให้พบ อาจต้องให้ผู้รู้มาช่วยแก้ไขปัญหา ไม่แก้แบบถูกๆผิดๆ ทุกคนช่วยกันมองปัญหาและคิดร่วมกันแก้ไข การปรึกษาหารือกัน ปรึกษาผู้รู้ การขอคำปรึกษาจากอาจารย์ ปรึกษาเพื่อนในกลุ่มและนอกกลุ่มหรือครูท่านอื่นๆ ร้อยละ 40 หรือการแก้ไขปัญหาด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ โดยการนำอุปกรณ์อื่นมาทดแทนกันได้ การใช้ใบตัดชนิดอื่นมาทดแทน การแก้ปัญหาในการลับคมตัดใบมีด ร้อยละ 15
            4.2.4 ด้านความสนใจในสิ่งใหม่ พบว่า นักศึกษาปฏิบัติตนโดยการยอมรับและสนใจในสิ่งใหม่ๆ ให้มากขึ้น การเปิดใจและยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ การค้นคว้าในสิ่งที่ไม่เคยทำ การเปิดโอกาสให้กับตนเอง การพิจารณาความสามารถของงานที่สร้างขึ้นมานั้นมีความสามารถทำได้หลายด้าน การเรียนรู้สิ่งใหม่จากงานที่ทำ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ให้มากขึ้น ควรมีความขยันฝึกฝนตนเองให้ชำนาญ ทำให้ดีกว่าเดิม การทำงานจะนำไปสู่ความคิดใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เป็นวิชาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ให้ก้าวหน้า ควรไขว่คว้าหาความคิดใหม่ที่อาจทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้คนได้ จำนวนร้อยละ 55 และนักศึกษาไม่มีความเห็นในเรื่องความสนใจสิ่งใหม่นี้ ร้อยละ 10
        4.2.5 ด้านการยอมรับความคิดสร้างสรรค์ พบว่า นักศึกษามีแนวทางที่จะนำมาปฏิบัติ คือ การนำความคิดเห็นของแต่ละคนมาวิเคราะห์แล้วปรับปรุงใหม่นำมาปรับใช้ การยอมรับและรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย การอธิบายการผลิตชิ้นส่วนด้วยหลักการที่ดี ง่าย มีความปลอดภัยให้เพื่อนๆฟัง แสดงความคิดเห็นร่วมกัน รับฟังข้อเสนอในกลุ่ม ทำการระดมสมอง เสนอข้อสงสัย หรือประชุมสมาชิกสร้างความเข้าใจกัน มีจำนวนร้อยละ 60  นอกจากนั้นมีจำนวนนักศึกษา ร้อยละ 20 เสนอแนวทางการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในการเรียน ด้วยวิธีการคิดวิเคราะห์ การจินตนาการใหม่ให้ดีกว่าเดิม นำความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ของสมาชิกมารวมกัน เสนอความเห็นกระบวนการทำงานร่วมกัน หรือพัฒนาดัดแปลงงานขึ้นใหม่ให้มีประสิทธิภาพ นำงานที่สร้างไว้แล้ว มาแก้ไขสร้างรูปแบบให้เป็นของตนเอง
 5.  อภิปรายผล
       5.1. ปัญหาการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา                    
         5.1.1 ความสนใจในวิชาโครงการ ซึ่งปัญหา คือ นักศึกษาไม่มีความสนใจ ไม่เข้าใจหลักการในวิชาโครงการ มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ความไม่พร้อมเพราะเรียนหลายวิชา และไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ไม่กล้าสร้างเครื่องด้วยตนเอง ไม่กล้าแสดงออกหรือแสดงความเห็นจำนวนมาก มีความสอดคล้องกับ [1] ที่กล่าวว่า การเรียนรู้ของนักเรียนในปัจจุบัน มีความแตกต่างเกิดขึ้น เช่น สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการมีสมาธิ การรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย การค้นหาความรู้ได้รวดเร็ว แต่ขาดการตรวจสอบ จึงเป็นสิ่งสำคัญของครูจะต้องศึกษาสภาพจริง เพื่อนำมาคิดสร้างสรรค์กระบวนการสอน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery learning) ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้เกิดจากครูสรุปข้อมูลจากประสบการณ์ และอธิบายสาระสำคัญของวิชาที่สอนนั้นง่ายๆ ได้เข้าใจ ซึ่งการเรียนรู้แบบรู้จริง โดยนักเรียนได้ลงมือทำและครูได้ช่วยแนะนำเป็นลักษณะโครงการ (Project) ให้นักเรียนฝึกการทำงานและค้นคว้าหาข้อมูล และครูพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน เปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็น มีหลายคำตอบ นักเรียนได้ฝึกคิดจากความเห็นที่แตกต่าง ทำให้เกิดความสร้างสรรค์นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงต่อไป
             5.1.2 ความเอาใจใส่ ซึ่งปัญหา คือ นักศึกษาไม่เอาใจใส่หรือเอาใส่ใจน้อย เนื่องจากมีงานในวิชาที่เรียนมาก เหนื่อยล้าจากการเรียนวิชาอื่น ชอบคุยเล่นกัน ไม่กล้าพูด  จึงต้องเป็นภารกิจของครูผู้สอนในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ [8] โดยจะต้องเป็นผู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ถาม ให้ความสนใจต่อคำถามแปลกๆ ของผู้เรียน มีการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ พิสูจน์ความสงสัย เป็นผู้ติดตามชี้แนะให้คำปรึกษา ตั้งใจฟังและเอาใจใส่ต่อคำถามของนักศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้จิตนาการของตนเอง และตอบคำถามของผู้เรียนได้
       5.1.3 ความสามารถในการแก้ปัญหา ด้านการจัดหาวัสดุ เครื่องมือในการตัดวัสดุแผ่น อุปกรณ์เครื่องมือไม่ครบ การออกแบบชิ้นส่วน เครื่องจักรที่สร้างทำงานไม่ราบรื่น การจับชิ้นงานที่ผลิตมีความยาก ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่สร้างถอดไม่ได้ สามารถแก้ไขปัญหาได้บางอย่าง หรือแก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้ ไม่รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตามที่ [4] กล่าวว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน นั้น สถานศึกษามีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่อบรมสั่งสอน เสริมสร้างพฤติกรรม ปลูกฝังทัศนคติ ดังนั้นสถานศึกษามีบทบาทสำคัญในการจัดสภาพแวดล้อม จัดวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนให้มีความพร้อม สามารถพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้มีความรู้ ความมั่นใจ พัฒนาตนเองได้
            5.1.4 ความสนใจในสิ่งใหม่ นักศึกษาไม่สนใจที่จะคิดหาหรือเปิดรับสิ่งใหม่ ไม่คิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งใหม่ หากปฏิบัติแล้วอาจไม่ประสบผลได้ ตามที่เดวิส (Davis,1992) อ้างใน [4] ว่า การเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ คือ การช่วยทำให้ผู้เรียนได้พบความคิดใหม่ๆ ซึ่งเทคนิคและวิธีการสอนของครู จะกระตุ้นความคิดของนักศึกษาได้ เพราะการสอนเป็นองค์ประกอบที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในตัวผู้เรียน
        5.1.5 การยอมรับความคิดสร้างสรรค์ ปัญหา คือ นักศึกษาไม่ค่อยได้คิดสร้างสรรค์ บางคนไม่ฟังความเห็นหรือยอมรับความคิดเห็นคนอื่น อยากทำแต่ของเดิมๆ ไม่มีการประชุมกลุ่ม ซึ่งการไม่รับฟังข้อมูลความคิดเห็นภายในกลุ่มอาจทำให้มีข้อขัดแย้ง เกิดผลเสียได้ตามที่ [9] กล่าวว่าความขัดแย้งเป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ ทำให้การทำงานไม่ราบรื่น ขาดความร่วมมือ มีความหวาดระแวงต่อกัน เกิดความเครียดและทำลายสุขภาพจิต ทำให้เกิดความเสียหายในกลุ่มองค์กร
     5.2 แนวทางในการสร้างความคิดสร้างสรรค์
         5.2.1 ความสนใจในวิชาโครงการ นักศึกษามีแนวทางในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ คือ การศึกษาเรียนรู้ โดยทำการศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น สอบถามครู ขอคำปรึกษาหรือการรับฟังความเห็นด้านเทคโนโลยี การออกแบบลักษณะงาน ส่วนแนวคิดในการสร้างความกล้า คือ ต้องมีความกล้าในสิ่งที่ถูกต้อง ปลุกความกล้าของตัวเอง มีความความพยายามให้มากขึ้น การแสดงออกจะทำให้เกิดความเคยชิน ต้องมีความกล้าที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ กล้าคิดกล้าเสนอ กล้าแสดงความเห็น รวมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้สอดคล้องกับ [10] กล่าวว่า ลักษณะของการเรียนวิชาโครงการเป็นรูปแบบการเรียนโดยผู้เรียนเลือกศึกษาในเรื่องที่สนใจ มีความสงสัย ต้องการหาคำตอบ ทำการศึกษาค้นคว้า ซึ่งข้อมูลความรู้ที่ค้นพบนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของนักศึกษาเองได้ จากนั้นก็สรุปข้อมูลความรู้จากการศึกษา นำเสนอด้วยวิธีการรายงาน หรือการจัดผลงานแสดง เป็นต้น
             5.2.2 ความเอาใจใส่ของนักศึกษา มีแนวทาง คือ การพัฒนาตนเอง โดยการฝึกความรับผิดชอบ มีความเอาใจใส่กับเพื่อนร่วมทีม เสนอความคิดเห็นที่ดี มีการวางแผนงาน เตรียมวัสดุในการจัดทำ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน การกระตุ้นตนเองในการทำงาน หรือปลุกเร้าให้เพื่อนในกลุ่มกระตือรือร้น มีความขยันเอาใจใส่ต่องาน และลงมือทำอย่างเร็ว ส่วนความสนใจในการเรียนรู้ นักศึกษามีแนวทางด้านการปฏิบัติตน โดยการมีความตั้งใจ มีสมาธิต่อการเรียน มีความสนใจมากขึ้น การปรับปรุงตัวเอง แก้ไขหลักการของชิ้นงานหาข้อผิดพลาดและสอบถามผู้ชำนาญการเพื่อให้การผลิตงานหรือชิ้นส่วนออกมาดี มีความใส่ใจกับงาน หาความรู้ด้านสิ่งประดิษฐ์มาประยุกต์ สนใจที่จะสร้างสรรค์ เรียนรู้ทำให้งานมีประสิทธิภาพ ตามที่ [2]  กล่าวว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีความสามารถในการใช้เหตุผลมาก เพราะในกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องมีความตั้งใจ ในการหาหนทาง แนวทาง หรือหาคำตอบที่ต่างจากวิธีการเดิมๆ ซึ่งต้องใช้หลักการเหตุผลในการอธิบายสิ่งเหล่านั้น กระบวนการของการคิดสร้างสรรค์ คือ การคิดแบบฟุ้งกระจาย (divergent thinking) เพื่อหาคำตอบในรูปแบบต่างๆที่หลากหลาย แล้วก็ใช้ความคิดแบบ convergent thinking คือการพุ่งหาเป้าหมายที่ต้องการ โดยการคัดสรรคำตอบเหล่านั้น เพื่อนำมาใช้งานจริง การสอนเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องสอนด้วยวิธีการที่ถูก ซึ่งอาจไม่ใช้วิธีการในปัจจุบัน
         5.2.3 ความสามารถในการแก้ปัญหา นักศึกษาต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง หรือเพื่อนร่วมงานมาช่วยทำการแก้ไข หรือเมื่อแก้ไขไม่ได้ก็ไปสอบถามครูผู้สอน คิดค้นหาวิธีการแก้ไขให้พบ อาจต้องให้ผู้รู้มาช่วยแก้ไข ไม่แก้แบบถูกๆผิดๆ ทุกคนช่วยกันมองปัญหาและคิดร่วมกันแก้ไข การขอคำปรึกษาจากอาจารย์ ผู้รู้ ปรึกษาเพื่อนในกลุ่มและนอกกลุ่มหรือครูท่านอื่นๆ สอดคล้องกับออสบอร์น (Osborn) อ้างใน [11] กล่าวว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เรียน คือ การฝึกให้มีจินตนาการประยุกต์ โดยจินตนาการในการแก้ปัญหายุ่งยากที่กำลังประสบอยู่ให้เกิดผล ความคิดสร้างสรรค์นอกจากจะเกิดขึ้นจากการมีเหตุมีผลแล้ว จะต้องเกิดจากการมีความคิดฝันถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด และมีทางเป็นไปได้ยาก หรือสิ่งที่อยู่นอกกรอบความคิดเดิมด้วย
             5.2.4 ความสนใจในสิ่งใหม่ นักศึกษาจะปฏิบัติตนโดยการยอมรับและสนใจในสิ่งใหม่ๆ การค้นคว้าและการเปิดโอกาสให้กับตนเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ มีความขยันฝึกฝนตนเองให้ชำนาญ ทำให้ดีกว่าเดิม การทำงานจะนำไปสู่ความคิดใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เป็นวิชาพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การไขว่คว้าหาความคิดใหม่ที่อาจทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้คนได้ ตามที่ กิลฟอร์ด (Guilford) อ้างใน [4] อธิบายว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถทางสมองของแต่ละคนในการคิดหลายทิศทางอย่างกว้างไกล ประกอบด้วยการมีความคิดริเริ่ม มีความคล่องแคล่ว ความยืดหยุ่นในการคิด สามารถเรียบเรียงคำอธิบายใหม่ตามหลักการและเหตุผล เพื่อแสดงคำตอบออกมา โดยองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ความคิดริเริ่มของบุคคล ในการที่จะสร้างสิ่งต่างๆ ในเรื่องที่สนใจ นั่นเอง
         5.2.5 การยอมรับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนักศึกษามีแนวทางที่จะปฏิบัติ คือ การวิเคราะห์ความคิดเห็นที่หลากหลาย แล้วนำมาปรับปรุงใหม่ การอธิบายการผลิตด้วยหลักการที่ดี ง่าย มีความปลอดภัย มีการแสดงความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอ ทำการระดมสมอง หรือประชุมสมาชิกเพื่อสร้างความเข้าใจกัน การเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์ด้วยวิธีการคิดวิเคราะห์ การจินตนาการใหม่ให้ดีกว่าเดิม เสนอกระบวนการในการทำงาน หรือพัฒนาดัดแปลงงานใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการนำชิ้นงานมาสร้างและแก้ไขใหม่ให้เป็นรูปแบบของตนเอง ซึ่งมีความสอดคล้องกับ [12]  ที่กล่าวว่า ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการในปี 2020 ได้แก่ ทักษะการแก้ไขปัญหางานที่มีความซับซ้อน การคิดวิเคราะห์งานการผลิต การสร้างความคิดสร้างสรรค์ การบริหารจัดการบุคคล การทำงานร่วมกัน การมีความฉลาดทางอารมณ์ การรู้จักประเมินตนเองและมีภาวะในการตัดสินใจที่ถูกต้อง การ มีใจรักในการให้บริการ การเจรจาอธิบายเหตุผลในการต่อรอง และมีความสามารถด้านความยืดหยุ่นทางความคิดในการทำงาน
6.  ข้อเสนอแนะ
    1. ด้านนโยบาย การนำแนวคิดด้านความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
     2. ด้านวิชาการ สามารถนำผลการวิจัยไปช่วยในด้านการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาโครงการได้
     3. แนวคิดด้านการสร้างสรรค์ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสอนของครู เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสอน และประยุกต์ใช้ในวิชาอื่นๆได้
      4. การนำความต้องการของนักศึกษาด้านปัญหาและแนวคิด เป็นตัวกำหนดในการจัดการเรียนการสอน
      5. การสนับสนุนงบประมาณการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเรียนวิชาโครงการ ที่มีความทันสมัย อย่างเหมาะสม เพื่อการพัฒนาทักษะของผู้เรียน
       ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
          1. การวิจัยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในรายวิชาอื่นๆ
          2. การวิจัยสภาพปัญหาและความต้องการ การเรียนวิชาโครงการ
           3. การวิจัยรูปแบบการพัฒนาครูผู้สอนวิชาโครงการ
กิตติกรรมประกาศ
        ขอขอบคุณผู้อำนวยการอดุลชัย โคตะวีระ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ที่ให้คำปรึกษาการวิจัย ขอบคุณคุณครูผู้สอนวิชาโครงการทุกสาขาวิชา ในวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ที่ให้ความอนุเคราะห์คำแนะนำการวิจัยและการสร้างแบบสัมภาษณ์ ขอบคุณนักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง สาขาวิชาเทคนิคการผลิตทุกคน ที่ให้ข้อมูลการสัมภาษณ์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี
เอกสารอ้างอิง
[1]   วิจารณ์ พานิช.  เอกสารประกอบการบรรยาย : บทบาท 
         ของครูในศตวรรษที่ 21 งานสัมมนาระดับดุษฎีบัณฑิต   
         สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
         ครั้งที่ 6. วันที่ 1 มีนาคม 2557, เลย : มหาวิทยาลัยราชภัฏ                                 
          เลย, 2557 หน้า 5-7)
 [2]   วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์.  ความคิดสร้างสรรค์ ตอน 2.  
       [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก www. Eduzones.com 
          สืบค้น เมื่อ 20 กันยายน 2557, 2556, หน้า 1.
[3]   เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์.  การคิดเชิงสร้างสรรค์
         (Creative Thinking).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก    
      www.novabizz.com. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2557, 2557, หน้า 1.   
[4]    อารี พันธ์มณี.   ฝึกให้คิดเป็น คิดให้สร้างสรรค์.    กรุงเทพฯ :    
           สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557 หน้า 37,120,122.  
[5]    กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.   ถามตอบรอบรู้ AEC 360
           องศา.  กรุงเทพฯ: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ      
           กระทรวงพานิชย์,  2555,  หน้า 52.
[6]    สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ.    หลักสูตร
           ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2546.  กรุงเทพฯ :
           สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา. 2546,  หน้า 52 .
[7]   บุญชม ศรีสะอาด.   การวิจัยเบื้องต้น.   ครั้งที่ 2 , กรุงเทพฯ : สุวีริยา
           สาส์น จัดพิมพ์,  2535,  หน้า  42.
[8]     ภูมี จันทลังสี.    การพัฒนาขบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อการ
             การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก    
        http://chanthalangsy.blogspot.com/ สืบค้น
             เมื่อ 2 กันยายน 2557, 2556, หน้า 10.
[9]     เมตต์ เมตต์การุณ์จิต.   ทีมงาน (Teamwork).   กรุงเทพฯ : โอ.
             เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์,  2555, หน้า 114.
[10]    สุคนธ์ สินธพานนท์.   การจัดการเรียนรู้ของครูยุคใหม่.. เพื่อ
             พัฒนาทักษะของผู้เรียน ในศตวรรษที่ 21.  กรุงเทพฯ : ห้าง
             หุ้นส่วนจำกัด 1991 เทคนิคพริ้นติ้ง, 2558 หน้า 119.
[11]    ศิวาพร นวลตา.    การพัฒนาศักยภาพทางความคิด และความคิด
             สร้างสรรค์ (Creative Thinking).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก
        http://pksasitonr.blogspot.com  เมื่อ 20 ธันวาคม 2558, หน้า 7.
[12]   ไกรยส ภัทราวาท.   10 ทักษะ ที่ตลาดแรงงานโลกต้องการในอีก 4
             ปีข้างหน้า.  สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพ
              เยาวชน (สสค.)  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก kroobannok.com
             สืบค้นเมื่อ 25 ม.ค. 2559.  หน้า 1.

       -  อ้างจากเอกสารการประชุมวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 1 (1stNational Conference onVocational Education Innovation and Technology )
วันที่ 24 -25 มีนาคม 2560 จ.อุดรธานี