วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์ระบบการศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

             วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์  ตั้งอยู่ถนนหลักเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์  ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์  ด้านหน้าติดถนนหลักเมือง  ด้านทิศตะวันออกติดเขตโรงพยาบาลสุรินทร์  ด้านทิศเหนือติดโรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ และด้านทิศตะวันตกติดโรงเรียนสุรวิทยาคาร

สภาพทั่วไป
             เทศบาลเมืองสุรินทร์  ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ  420-454  กิโลเมตร (ทางรถไฟและทางรถยนต์) มีพื้นที่ 11.39 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร ณ เดือนมีนาคม 2552  ทั้งสิ้น 40,150  คน  จำนวน  บ้าน  14,379  หลังคาเรือน  ความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ย 3,525 คนต่อตารางกิโลเมตร 
             การคมนาคม  การจราจร  มีเส้นทางการคมนาคมติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ได้สะดวก ทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ 
             ไฟฟ้า การดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสุรินทร์ โดยจ่ายกระแสไฟฟ้าทั้งในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อจ่ายให้แก่บ้านอยู่อาศัย  ธุรกิจการบริการ การอุตสาหกรรม และ
             การสื่อสาร 1) โทรศัพท์ การให้บริการโทรศัพท์ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสุรินทร์ ในปี 2551 (มกราคม)  เฉพาะโทรศัพท์ชุมสายสุรินทร์  เปิดให้บริการประชาชนทั้งในระบบอัตโนมัติ และโทรศัพท์สาธารณะทศท. และ TT&T  2)  การไปรษณีย์โทรเลข มีที่ทำการไปรษณีย์รวม 3 ประเภท คือ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ที่รับส่งไปรษณีย์ และร้านจำหน่ายตราไปรษณียากร  ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข 2 แห่ง  3) สถานีวิทยุกระจายเสียง  มีนวน 5 แห่ง  4) สถานีโทรทัศน์ ในจังหวัดสุรินทร์ มีสถานีโทรทัศน์เครือข่ายจำนวน 3 สถานี  5)  หนังสือพิมพ์ ได้แก่ หนังสือพิมพ์คนอีสาน  หนังสือพิมพ์อีสานมีเดียนิวส์  
หนังสือพิมพ์ชาวสยาม หนังสือพิมพ์ฐานความจริง หนังสือพิมพ์มติปวงชน
               สถาบันการศึกษา  มีสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตเทศบาล 18 แห่ง  ได้แก่  โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ โรงเรียนเมืองสุรินทร์ โรงเรียนเทศบาล 1-3  โรงเรียนสุรินทรศึกษา โรงเรียนสิรินธร  โรงเรียนสุรวิทยาคาร วิทยาลัยอาชีวศึกษา  วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ วิทยาลัยพยาบาลสุรินทร์ เป็นต้น                
             สถานที่ราชการ ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอ ศาลจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานบริการโทรศัพท์สุรินทร์ ที่ทำการไปรษณีย  การประปาสุรินทร์  สถานีโทรคมนาคม  สำนักงานการไฟฟ้า เป็นต้น                 
             ศาสนสถาน ได้แก่ วัดหนองบัว วัดกลางสุรินทร์ วัดพรหมสุรินทร์ วัดประทุมเมฆ วัดคุ้มเหนือ วัดบูรพาราม วัดศาลาลอย วัดจำปา วัดโคกบัวราย  วัดจุมพลสุทธาวาส
             ด้านเศรษฐกิจ มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรายได้ซึ่งจากเดิมขึ้นอยู่กับ ภาคเกษตรกรรม ไปสู่การมีรายได้หลักจากการค้าส่งและค้าปลีก และการบริการเป็นหลัก รองลงมาเป็นสาขาเกษตรกรรม  สาขาการศึกษา และสาขาการผลิตอุตสาหกรรม 
             เกษตรกรรม  ประชากรส่วนใหญ่ในเขตเทศบาล ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ด้านการพาณิชยกรรม และการบริการ  พื้นที่ตอนล่างส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อปลูกสร้างอาคารประกอบการ  สถานที่ราชการ และที่อยู่อาศัย   
             ระบบชลประทาน  คลองชลประทาน ซึ่งใช้เป็นเส้นแบ่งเขตเทศบาล  เป็นคลองส่งน้ำมาจากห้วยเสนง  ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณได้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค อย่างเพียงพอ
             การพาณิชยกรรมและการบริการ  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย  มีสินค้าหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมประเภทเครื่องจักรเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารทะเล พืชผัก ผลไม้ เป็นต้น  สินค้าออก  ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม หัวผักกาดหวาน - เค็ม เป็นต้น ตลาดซื้อขายสินค้าที่สำคัญ เช่น ตลาดสดเทศบาล  ตลาดน้อยรื่นรมย์  ตลาดน้อยจุมพล และมีห้างสรรพสินค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า เช่น  ห้างแม็คโคร   เทสโก้ โลตัส  บิ๊กซี  เพชรเกษมพลาซ่า   สุรินทร์พลาซ่า  เป็นต้น
             การอุตสาหกรรม  ในเขตเทศบาลเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กซึ่งตั้งกระจายตามเส้นทางคมนาคมบริเวณถนนหลักเมือง ถนนเทศบาล 3  และถนนปัทมานนท์  ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์/รถจักรยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร  อุตสาหกรรมผลิตโลหะ  อุตสาหกรรมคอนกรีต  อุตสาหกรรมห้องเย็น 
              การท่องเที่ยว จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวอย่าง มีปัจจัยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างมีคุณภาพ  สถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาลและบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ วนอุทยานเขาพนมสวาย  ห้วยเสนง  ศาลหลักเมือง  คูเมือง หมู่บ้านทอผ้าไหมเขวาสินรินทร์ หมู่บ้านจักสานบุทม เป็นต้น  
              ศาสนา ผู้นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 97 วัด จำนวน 10 แห่ง ผู้นับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ3               
              วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ  ได้แก่ ประเพณีวันสาร์ท หรือ เบ็ญเป็นงานที่สำคัญและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
              ด้านการเมืองการบริหาร  การบริหารเทศบาลเมืองสุรินทร์ บริหารงานในรูปแบบนายกเทศมนตรี โดยการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาเทศบาล อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ฝ่ายบริหารประกอบด้วยนายกเทศมนตรี 1 คน และรองนายกเทศมนตรี 3 คน มีอำนาจ
หน้าที่ควบคุมรับผิดชอบบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า              
              การมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตเทศบาลด้านการบริหาร เป็นรูปแบบของกรรมการชุมชน  ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากคนในชุมชน  เพื่อทำหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างเทศบาลกับชุมชน  รวบรวมปัญหาความต้องการ และเสนอแนะแนวทางแก้ไข ต่อเทศบาล เพื่อปรับปรุง แก้ไขต่อไป
              จังหวัดสุรินทร์มีประชากร  1,377,827 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 170 คนต่อตารางกิโลเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ) ประกอบด้วยชาวไทยเผ่าต่างๆ ดังนี้
               - ชาวไทยเขมร  ตั้งถิ่นฐานอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มีภาษาพูดและอักษรเป็นของตนเอง ภาษาเขมรป่าดงเหมือนภาษาในกัมพูชา
               - ชาวไทยกูย  ส่วย หรือกูยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ข่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายชนเผ่าเขมรมาก ภาษาก็ใกล้เคียงกัน
               - ชาวไทยอีสาน  มีเชื้อสายไทยอีสานเหมือนกับหลายจังหวัด ใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่เหมือนกันกับชาวไทยอีสานทั่วไป แต่จะแตกต่างในเรื่องของภาษาในแต่ละท้องถิ่น
                - ชาวไทยจีน ส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาในจังหวัดสุรินทร์ สาเหตุจากปัญหาการลี้ภัยสงครามยุคการปฏิวัติประชาธิปไตยสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น การปฏิวัติคอมมิวนิสต์นำโดย เหมา เจ๋อ ตง และสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกจีน  ในระหว่าง พ.ศ. 2438 2492  โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนในจังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ได้อพยพลี้ภัยเข้ามาเป็นจำนวนมาก สายหนึ่งมาทางเรือ ขึ้นฝั่งที่เมืองบางกอก อีกสายหนึ่งผ่านเข้ามาทางเวียดนามและลาว  และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสุรินทร์
ข้อมูลวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์
             วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี  .. 2481  เนื้อที่  37 ไร่ จากโรงเรียนช่างไม้สุรินทร์  ได้รับการพัฒนาปรับปรุงและยกฐานะเป็นวิทยาลัย  เมื่อปี พ.. 2523  มีวิสัยทัศน์  (Vision)  คือ เป็นสถานศึกษาที่ผลิตกำลังคนประเภทช่างอุตสาหกรรม และบริการทางวิชาชีพ  สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน  และตลาดแรงงาน  ผู้สำเร็จการศึกษามีทักษะทางวิชาชีพ  ตามมาตรฐาน อาชีวศึกษา  มีคุณธรรมจริยธรรม  สามารถศึกษาต่อ  และประกอบอาชีพได้
            พันธกิจ (Mission) 1) จัดการศึกษาประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม  ระดับ ปวช.  ปวส.   โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ  และเอกชน  2) พัฒนาคุณภาพผู้เรียน และผู้สำเร็จการศึกษาให้เป็นผู้มีความรู้ทางวิชาชีพ  มีทักษะในการปฏิบัติงาน  และคุณธรรมจริยธรรม   มีทักษะในการคิดค้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี  3) พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน  ท้องถิ่น เทคโนโลยี และเหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม 4) พัฒนาครูทางด้านวิชาชีพและวิชาครู  ให้เป็นครูมืออาชีพ  มีความสามารถในการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามศักยภาพ  สามารถพัฒนานวัตกรรม  ผลงานวิชาการ วิจัยในชั้นเรียน ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนางาน และมีจรรยาบรรณ  5) บริการฝึกอบรมวิชาชีพแก่ประชาชน เพื่อการหารายได้ระหว่างเรียน 6) เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการ  โดยใช้การบริหารแบบมีส่วนร่วมของบุคลากร  และชุมชน  เน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  มีประสิทธิภาพและการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน
             ปรัชญา (Philosopho) เป็นสถานศึกษามุ่งพัฒนาความรู้สู่อาชีพที่ยั่งยืน
             หลักสูตรการศึกษา  ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)  พุทธศักราช  2545   (ปรับปรุง พ.ศ. 2546)  และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  พุทธศักราช  2546  มีจำนวน  สาขาวิชาที่เปิดทำการเรียนการสอน  11 แผนกวิชา
             โครงสร้างการบริหารในวิทยาลัย ประกอบด้วย 4 ฝ่าย คือ ฝายวิชาการ ฝ่ายบริหารทรัพยากร ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ และฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา มีผู้บริหาร 5 คน ครูประจำ จำนวน 95 คน ครูจ้างสอน จำนวน 72 คน ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 58 คน นักเรียนนักศึกษา ระดับ ปวช. 3,197 คน  ระดับ ปวส. 2,140 คน   รวม  5,330 คน
             เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา ในปี พ.ศ. 2561 คือ การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียน ระหว่างสามัญกับอาชีวศึกษา 40 : 60 เป็นภารกิจของอาชีวศึกษาในการปรับภาพลักษณ์ เน้นคุณภาพด้านทักษะฝีมือให้ได้มาตรฐาน มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองดีของสังคม การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ปลูกฝังความมีจิตสาธารณะ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง  ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต  ภารกิจการสร้างคน สร้างงานอาชีพ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพูนรายได้ในการดำรงชีวิตของประชาชน








การวิเคราะห์ระบบการศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์  ด้วย SWOT
            1. จุดแข็ง เป็นหน่วยงานในการผลิตช่างฝีมือ ผู้ปฏิบัติงานตามสาขาวิชาชีพ มีความรู้ความสามารถตรงกับงานการผลิตในสถานประกอบการ โรงงาน การสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เป็นการจุดประกายการพัฒนานวัตกรรมนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์  การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน บริษัท ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้นักศึกษาร่วมฝึกประสบการณ์
                   -  สถานศึกษาด้านสายอาชีพ
                   -  สถานที่ตั้งในชุมชน เขตจังหวัด
                   -  สาขาวิชาเป็นความต้องการของสถานประกอบการ
                   -  มีการจัดระบบประกันคุณภาพ มีอาคารสถานที่ บุคลากร งบประมาณ
                   -  สังคมให้การยอมรับ เปิดทำการเรียนการสอนมานาน มีจำนวนศิษย์เก่าหลายรุ่น
                   -  ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรด้านการสอน จากส่วนกลางและชุมชน
                   -  หน่วยงานที่สนองนโยบายการผลิตกำลังคน ของ สอศ.
            2. จุดอ่อน  การบริหารจัดการ ต้องรับนโยบายบางประการจากส่วนกลาง  เพื่อนำมาสู่การกำหนดทิศทาง หรือการดำเนินงานของสถานศึกษา  ทำให้มองข้ามการนำประโยชน์หรือสิ่งที่ดีจากท้องถิ่น มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ  การประสานงานกับท้องถิ่นมีน้อย  ยกเว้นการปฏิบัติงานตามโครงการที่ส่วนกลางมอบให้เท่านั้น  หรือแผนงานที่สนับสนุน พัฒนาท้องถิ่นที่ต้องจัดตามนโยบายด้านการประกันคุณภาพเท่านั้น การขาดนักวิจัยเฉพาะทางหรือนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ เพื่อเป็นผู้วางนโยบายกำหนดแนวทางให้กับหน่วยงาน เตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต       
                   -  แหล่งชุมชน ปัญหาทางสังคม
                   -  ปัญหาการเรียน ออกกลางครัน
                   -  ฝึกงานต่างจังหวัด
                   -  การทะเลาะวิวาท
                   -  การควบคุมนักศึกษาด้านความประพฤติ
                   -  การจัดระเบียบภายในของนักเรียน
                   -  การประสานงานภายในของสำนักงานในวิทยาลัย
             3. โอกาส มีความสามารถในการจัดตั้งหน่วยงานด้านวิชาชีพ ผลิตแรงงานในระดับช่างฝีมือ เข้าสู่โรงงาน สถานประกอบการ ตรงตามความต้องการ นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
                   -  การได้รับการพิจารณาการทำงาน
                    -  การได้รับความเชื่อถือจากสังคม
                    -  การขยายสาขาและระดับให้สูง
                    -  การปรับระดับสถานศึกษา
                    -  ได้รับงบประมาณจากส่วนกลาง
                    -  การช่วยเหลือสังคม
                    -  การสร้างความแข็งแกร่งทางสังคม
                    -  เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอาชีพ
             4. การพัฒนา ควรสร้างนักวิจัยด้านวิชาชีพเฉพาะทาง สร้างนักวิชาการสายอาชีพเพิ่มขึ้น จัดให้มีการส่งเสริมหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษา ในด้านการจัดการ การสนับสนุนวัสดุและการจัดสรรงบประมาณให้พอเพียง
                   -  การเพิ่มระดับการศึกษาของนักศึกษา
                   -  การพัฒนาบุคลากรตรงตามสาขาการสอน
                   -  การพัฒนาสภาพแวดล้อม
                   -  การแก้ไขปัญหาการการเรียน
                   -  การจัดการด้านการประสานงานภายใน
                   -  การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ช่วยการสอน
                   -  การช่วยเหลือนักศึกษาที่ด้อยโอกาสทางทุนทรัพย์
                   -  การจัดระบบการศึกษา เน้นผู้เรียนให้มากขึ้น

การวิเคราะห์ ระบบการบริหาร 4  M  วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์
            1.  Man 
                1.1  ผู้บริหาร  ประกอบด้วยผู้อำนวยการ  จำนวน 1 คน  และรองผู้อำนวยการ  จำนวน 2- 4 คน  การแต่งตั้งโดยส่วนกลาง (สอศ.) ผู้บริหารแต่ละคนได้มีการประสานงานและขอลงตำแหน่งตามสถานศึกษาแต่ละจังหวัด ด้วยตนเองหรือผู้ใกล้ชิด  การบริหารดำเนินตามรูปแบบระบบราชการ มีสายการบังคับบัญชาจากบนสู่ล่าง เช่น ผู้อำนวยการ  รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ  หัวหน้าแผนกวิชาหรือหัวหน้างาน และครูผู้สอน
                 1.2 ครูผู้สอน ประกอบด้วยครูประจำหรือข้าราชการครู ครูผู้ช่วย  พนักงานราชการ  ส่วนครูจ้างสอน คือ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่สอนตามสาขาวิชาที่ต้องการ  จะทำสัญญาการจ้างสอนในตำแหน่งครูสอนรายเดือนหรือรายชั่วโมง ตามกรอบของสถานศึกษา
                1.3  เจ้าหน้าที่ประจำและบุคลากรสนับสนุนการศึกษา ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประจำ ที่มีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการ ทำหน้าที่ในฝ่ายต่างๆ และเจ้าหน้าที่ชั่วคราว ที่ทำการจ้างเป็นรายเดือนหรือรายปี  เพื่อช่วยทำหน้าที่ในงานต่างๆภายในสถานศึกษา และนักการภารโรง
            2.  Material
                2.1  วัสดุอุปกรณ์ ประจำแผนกสาขาวิชา  สำนักงาน  ได้มีการจัดสรรเพื่อให้มีจำนวนตามกรอบขอบเขตของครุภัณฑ์มาตรฐานที่ส่วนกลางกำหนด และตามความจำเป็นของการใช้งาน
                2.2  วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน  ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  ยานพาหนะ  อาคารสถานที่
            3. Managemet
                3.1  การบริหารสถานศึกษา ใช้โครงสร้างแบบราชการ มีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารสูงสุด  รองผู้อำนวยการทำหน้าที่ประสานงานตามสายงาน  แผนกวิชาหรือสำนักงานต่างๆ เป็นผู้ปฏิบัติ
                3.2  การบริหารงานภายในแผนกวิชาหรือสำนักงาน  โดยหัวหน้าแผนกวิชาหรือหัวหน้างาน ทำหน้าที่มอบหมายงานให้ผู้ที่อยู่ในแผนกหรือสำนักงาน ดำเนินการปฏิบัติ
             4.  Money
                 4.1  งบประมาณประจำปี  ได้รับการจัดสรรมาจากส่วนกลาง (สอศ.) 
                 4.3  เงินบำรุงการศึกษา  มาจากการลงทะเบียนเรียน
                 4.4  เงินรายได้อื่นๆ  เช่น การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น อบจ.  สมาคมผู้ปกครองบริจาค เป็นต้น
                 4.5  ค่าใช้จ่าย  เช่น ค่าครุภัณฑ์  สิ่งก่อสร้าง  ค่าวัสดุการสอน  วัสดุสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างสอน  ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ค่าซ่อมบำรุง  ค่าพัฒนาการศึกษา สวัสดิการ 

สรุป
             วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ เป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านสายอาชีพ ที่มีจำนวนผู้ปกครอง ศิษย์เก่าจำนวนมาก  ที่จบการศึกษาแล้วมีหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอิสระ ได้รับการยอมรับทางสังคม  นอกจากนั้นวิทยาลัยได้ทำการช่วยเหลือสนับสนุนแก่ชุมชน ตามโครงการต่างๆ ทั้งที่เป็นนโยบายจากส่วนกลางและนโยบายของวิทยาลัย  นักศึกษาที่เข้ามาเรียนและจบการศึกษาไปแล้ว สามารถนำความรู้ไปใช้บูรณาการด้านอาชีพได้อย่างเหมาะสมหรือประยุกต์ใช้ตามภารกิจงาน การจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่สอดคล้องกับวิชาชีพ มีจำนวนเพียงพอ และรองรับการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมได้อย่างดี

                






















การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมระบบการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

            วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ จัดการเรียนการสอนมานาน กว่า 70 ปี มีศิษย์เก่าจำนวนหลายรุ่น หลายสาขาวิชาช่าง ผู้จบการศึกษาได้ประกอบอาชีพหลากหลายอาชีพ และยังได้รับการติดต่อประสานงาน ความร่วมมือในโครงการเพื่อการศึกษาและบริการสังคม ตามภารกิจในชุมชนของศิษย์เก่าและผู้ปกครอง ดำเนินการให้ความช่วยเหลือท้องถิ่นและท้องถิ่นช่วยวิทยาลัย ซึ่งในอนาคตที่จะเกิดการพัฒนากำลังคนของชาติ ตามยุทธศาสตร์ ในการสร้างอาชีพและการเรียนรู้สู่สังคมอาเซียนนั้น หน่วยงานในสังกัดอาชีวศึกษา จะมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการศึกษา การอบรม การพัฒนาคนในชุมชนท้องถิ่น ให้มีศักยภาพตามแผนปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ปี 2552-2561 ดังนั้น วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ จะต้องดำเนินการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการศึกษาอาชีพ  โดยบูรณาการสภาพทางการเมือง  ทางเศรษฐกิจ การนำส่วนสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น  การประยุกต์นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาใช้ ตลอดจน การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และการพิจารณาถึงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนในการเรียนสายอาชีพ นำผลการเรียนตามหลักสูตรต่างๆ ไปใช้แสดงต่อสถานประกอบการ เพื่อประกอบอาชีพหรือเข้าทำงาน ในอนาคตข้างหน้า ตามช่วงที่กำหนดระยะเวลาในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมระบบการศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ แสดงในภาพ ดังนี้
          POLITICAL                   ECONOMIC            SOCIAL                   TECHNOLOGY      
           การเมือง                      เศรษฐกิจ             สังคมวัฒนธรรม               เทคโนโลยี


         Input                                          process                                 output
1. หลักสูตร                              - ระบบการจัดการเรียนการสอน             - ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
2. ครู บุคลากร                          - ระบบการติดตาม ช่วยเหลือ                - จำนวนผู้จบการศึกษา
3. อาคารสถานที่                        - ระบบการประเมินผล                        - คุณภาพผู้เรียน
4. นโยบาย การบริหาร                 - บรรยากาศ กิจกรรม                         - ประกอบอาชีพอิสระ
5. เศรษฐกิจ สังคม                      - การฝึกปฏิบัติ                                 - สถานประกอบการอมรับ
6. วัสดุ สื่อ งบประมาณ                - สิ่งแวดล้อมภายใน                           - ผู้ปกครอง ชุมชน พอใจ                                                              
                                 
                                                 
                                                                                                                  
                                                  
                                                         Feedback
                                            -  จำนวนผู้ศึกษาต่อหรือได้ทำงาน
                                            -  ผลการเรียนต่ำ ไม่จบการศึกษา
                                                สิ่งแวดล้อมภายนอกวิทยาลัย
                       อดีต                              ปัจจุบัน                            อนาคต
ภาพที่ 1 แสดงการวิเคราะห์ระบบการศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ปีการศึกษา 2555
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมระบบการศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ เชิงระบบ PEST ดังนี้

             Political  (P ระบบการเมืองที่มีผลกระทบการศึกษา)                     
                     - หน่วยงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  มีโอกาสเข้ามาช่วยสนับสนุน
                     - นักการเมืองจะเข้ามาพบนักศึกษา ในฤดูกาลการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคต
                     - การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และจัดงบประมาณตามกระแสกลุ่มนักการเมือง
                     - หน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต ไม่กล้าเข้ามาประสานงาน เนื่องจากระดับการศึกษาอาชีพที่สูงกว่าและมีครู บุคลากร ทำการสอนมานานเป็นที่ยอมรับ
                     - ครู บุคลากร สนับสนุนระบบการเมืองหรือช่วยนักการเมืองเป็นเพียงกลุ่มขนาดเล็ก
                     - การเปลี่ยนผู้บริหาร สามารถทำได้ง่าย หากไม่มีเครือข่ายนักการเมืองสนับสนุน
                     - การนำเสนอขอสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ตามปีงบประมาณ
                     - การเข้าหานักการเมืองท้องถิ่นหรือนักการเมืองระดับชาติได้
                     - วิทยาลัย เปิดโอกาสให้บุคคล ชุมชน เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนได้
                     - เสนอแนวทางแก่นักการเมือง ในด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาต่อไป
                     - การเข้ามาทำหน้าที่ของผู้บริหาร เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของการเมือง
                     สรุป  วิทยาลัยฯ ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามนโยบายของ สอศ. การเปลี่ยนแปลงภาคการเมือง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จะมีประสานงานความร่วมมือตามโครงการ ไม่มีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน  การเมืองเป็นการดำเนินภารกิจส่วนบุคคล  ไม่มีส่วนทำให้การจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนไป ซึ่งปัจจุบันและในอนาคต วิทยาลัยจะเป็นกลุ่มเป้าหมายในการแนะนำตนเองของนักการเมือง

            Economic  (E ระบบเศรษฐกิจที่มีผลกระทบการศึกษา)
                     - ผู้ปกครองของนักเรียนนักศึกษา มีกำลังการซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียนให้กับผู้เรียน
                     - ผู้เรียนเริ่มตระหนักในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากขึ้น จากการนำเสนอข้อมูลให้ได้รับทราบในช่วงการเรียนและการประชุม
                     - จัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชาติและสนองต่อความต้องการของนักเรียนในท้องถิ่น เป็นการพัฒนากำลังคนด้านอาชีพตรงตามยุทธศาสตร์การพัฒนา
                     - การจัดงบประมาณเพื่อใช้จ่ายด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ในวิทยาลัยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
                     - ราคาอุปกรณ์เครื่องมือบางรายการค่อนข้างสูง เป็นไปตามภาวะทางเศรษฐกิจ
                     - การได้รับการช่วยเหลือของนักเรียนนักศึกษา จากโครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำให้ผู้เรียนมีกำลังในการจัดซื้อและมีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งนำไปใช้จ่ายอื่นๆได้ง่าย
                     - การทำธุรกิจสื่อเกมส์คอมพิวเตอร์ของเอกชน ที่ตั้งอยู่ใกล้วิทยาลัย มีทั้งผลดีและผลเสีย
                    สรุป  ความเจริญด้านเศรษฐกิจ การให้บริการสื่อเทคโนโลยี ที่ตั้งอยู่รอบสถานศึกษา มีผลต่อการรับรู้ ความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษา ทำให้นักศึกษาบางส่วนรับเอาสิ่งต่างๆนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต เกิดผลกระทบ เช่น ผลการเรียนมีแนวโน้มต่ำลง หากวิทยาลัยไม่ดำเนินการแก้ไข ในอนาคตจะมีจำนวนผู้เรียนที่มีผลการเรียนต่ำ มีจำนวนเพิ่มขึ้น

             Social  (S สังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการศึกษา) 
                     - การเข้ามาเรียนของนักเรียนนักศึกษา ส่วนใหญ่จะมาจากต่างอำเภอ แม้จะมีระยะทางที่ห่างไกลจากบ้าน แต่มีความต้องการที่จะมาศึกษาเรียนรู้ เนื่องจากวิทยาลัยมีชื่อเสียง
                     - สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนที่มีลักษณะคล้ายกัน ไดเปิดดำเนินการเรียนการสอนตามอำเภอหลายแห่ง แต่ส่วนหนึ่งก็ยังมีความนิยมที่จะมาที่วิทยาลัยเทคนิค ในเขตของเมือง ตามโอกาสและความพร้อมด้านปัจจัยในการใช้เล่าเรียน
                     - ผู้ปกครองมีความนิยมและสนับสนุนให้บุตรหลานเข้ามาที่วิทยาลัย เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลการเข้าเรียนมานาน จากการเข้าเรียนเองและจบการศึกษาแล้ว และจากการแนะนำของผู้ใกล้ชิด หรือการบอกต่อๆกันของศิษย์เก่าในแต่ละแผนกช่าง
                    - พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจในระบบการเรียนที่สามารถเรียนได้ และมุ่งหวังในการเข้าทำงานและการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป จึงลงทุนเพื่อการศึกษามากขึ้น
                    - การนำสถานศึกษาเข้าสู่ทิศทางความร่วมมือ กับชุมชนท้องถิ่น มีความพร้อมมากในหลายด้าน ตามโอกาสและความประสงค์ของชุมชน
                    - การเพิ่มแหล่งการเรียนรู้ใหม่ในสู่ชุมชน  มีข้อจำกัดเนื่องจากต้องปฏิบัติงานตามนโยบายของ สอศ. ให้เป็นไปตามระเบียบ
                    - การเสนอให้ชุมชนหรือตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถตกลงกันภายในวิทยาลัย แต่ในอนาคตจะได้ขยายความร่วมมือออกไป ตามแนวนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
                    - สถานศึกษาไม่สามารถขยายหรือสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมได้ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด และตั้งอยู่ในชุมชนมีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งเสพติด โดยมีเครือข่ายหรือบุคคลแอบอ้างมาทำผิดกฎหมายในวิทยาลัย
                    - เป็นสถานศึกษาฝึกอาชีพที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคมระดับจังหวัดและระดับชาติ และกำลังได้รับการสนับสนุนจากการอาชีวศึกษาหรือรัฐบาลในการสร้างกำลังคนด้านอาชีวศึกษา ตามแผนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี
                    สรุป ที่ผ่านมาการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัย ได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับที่ดีมาก แต่มีผู้จบการศึกษาของนักศึกษาจำนวนไม่มาก เนื่องจากกรอบการรับผู้เรียนมีจำกัด  ปัจจุบัน มีข้อมูลนักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่จบตามหลักสูตรหรือออกกลางคัน จากการตรวจสอบสรุปปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาด้านครอบครัว การปรับตัวเข้ากับสังคม  การชักจูงแนะนำของเพื่อนที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว

             Technology  (T เทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบต่อการศึกษาไทย)
                     - ยุคการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนในโลกต้องยอมรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งทุกประเทศได้ปรับกระบวนการตั้งรับและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ความก้าวหน้าของสิ่งที่ทันสมัยเหล่านี้ไม่สามารถปฏิเสธการเข้ามาและมีผลต่อดำรงชีวิต  ดังนั้น การก้าวทันในเทคโนโลยีหลายๆด้านที่จำเป็น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนา และนำวิธีการด้านยุทธศาสตร์มาจัดการกับสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดตามสาขาการใช้งาน
                     - เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีความจำเป็นต่อการพัฒนาและสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาได้อย่างดี
                     - การเรียนรู้ระบบคอมพิวเตอร์ คือ การก้าวทันตามสถานการณ์ในโลกที่กำลังเกิดขึ้นและเรื่องราวที่จะเกิดในอนาคต การใช้งานเพื่อการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนพัฒนาขีดความสามารถด้านต่างๆ
                     - ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้นเหตุในการมีความรู้เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้ผู้เรียนบางคนจัดระบบการดำรงชีวิตไม่ถูกต้องได้ เข่น การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจมีผลต่อการขาดเรียนบางรายวิชาในวิทยาลัย
                     - การเพิ่มระบบการเรียนรู้ ออนไลน์ การสนับสนุนให้ใช้งาน เพื่อการเรียนรู้และการสื่อสารในสาขาวิชาการต่างๆ
                     - การจัดระบบการเรียนรู้สารสนเทศที่ทันสมัย ซึ่งเป็นการจัดหลักสูตรการเรียนรู้สอดคล้องกับยุคเทคโนโลยี ในสมัยปัจจุบัน และมีแนวโน้มในการพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม
                     สรุป การมีอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย รวดเร็ว มีผลหลายประการ เช่น นักศึกษาได้รับข่าวสารด้านการบันเทิง และมีข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ แต่ทำให้มีใจจดจ่อและติดตาม ความสนใจด้านการเรียนเริ่มลดลง และด้านการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วและหลากหลาย ทำให้การเรียนรู้ไร้ขอบเขต ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใดจะนำข้อมูลและประโยชน์ของข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับตนเองอย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัย

              Environment  (E สภาพแวดล้อมภายนอกสถานศึกษา)
                     - สภาพแวดล้อมที่เป็นผลต่อการเรียนของนักศึกษา จาการตรวจสอบพบว่ามีนักศึกษาบางส่วนขาดเรียนมาก และการออกกลางคัน เนื่องมาจากมีความสนใจในเกมส์คอมพิวเตอร์ และเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดในชุมชนและหอพัก
                     - สถานที่ของวิทยาลัย ตั้งอยู่ใจกลางของแหล่งสถานศึกษา โดยบริเวณด้านหลังและด้านข้าง ติดกับโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษา และด้านข้างอีกด้านหนึ่งติดกับโรงพยาบาล การจัดการเรียนการสอนบางช่วงเวลาทำให้เกิดผลกระทบ เพราะมีอาคารเรียนตั้งอยู่ใกล้กัน เช่น เสียงเครื่องกระจายเสียงการจัดกิจกรรมการเรียนของโรงเรียนประถมในช่วงเวลาเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวิทยาลัยทำการเรียนการสอนวิชาภาคทฤษฎี เป็นต้น

               Legal  (L ผลจากข้อกฎหมายต่อการศึกษา)
                     - การขยายสาขาวิชาชีพตามความต้องการของชุมชน เช่น วิชาชีพการตีมีด วิชาชีพการเลี้ยงไหม วิชาชีพด้านงานฝีมือ เป็นต้น วิทยาลัยไม่สามารถเปิดทำการสอนได้ รวมทั้งการออกเอกสารรับรองการจบหลักสูตร แสดงผลการเรียน ต้องเสนอโครงการตามแผนประจำปีไปที่ส่วนกลาง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือหน่วยงานด้านการรับรองใบประกอบวิชาชีพ                  
                      สรุป  สภาพแวดล้อมของวิทยาลัยด้านพื้นที่ มีผลต่อการขยายหรือไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม และในปัจจุบันอาคารเรียน อาคารโรงงาน ตึกสำนักงาน วางตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ชิดกัน และสถานที่อยู่ใจกลางของชุมชนเมือง มีผลต่อการจราจร มีมลภาวะทางเสียง และการดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาบางอย่างต้องเสนอต่อส่วนกลาง เพื่อขอความเห็นชอบ และได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการ ทำให้เกิดความล่าช้าต่อการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนในชุมชน ท้องถิ่น





ข้อเสนอแนวทางการบริหาร 
             จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ปี 2552 - 2561 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่จะได้ดำเนินการเป็นรูปธรรม ตามที่รัฐบาลในสมัยปัจจุบันนี้ได้ประกาศแล้ว ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในตำแหน่งสำคัญ จะต้องกำหนดนโยบายและสร้างรูปแบบการดำเนินการ ให้ฝ่ายต่างๆไปดำเนินการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่กันต่อไป ในส่วนของการนำเสนอแนวทางการบริหารในวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ จึงขอแนวทางการบริหาร ดังนี้

             1. การปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
                - ดำเนินการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ในแต่ละภาคให้แล้วเสร็จ ในปีการศึกษา 2555 นี้ เป็นการกระจายอำนาจ ลดกระบวนการสั่งการที่ใช้เวลานานเกิดความล่าช้าต่อการพัฒนา
               - มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถาบัน ในการจัดการระบบการศึกษาที่กระชับและเป็นไปตามความต้องการและบริบทของท้องถิ่น ที่ตั้งของสถาบันหรือพื้นที่ใกล้เคียง
               - เพิ่มหลักสูตรที่ต้องการที่สามารถจะนำไปสู่การสร้างอาชีพและการมีรายได้ จากการเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้มีรายได้มาใช้ในการดำรงชีวิตและสร้างเศรษฐกิจในครอบครัวและสังคมต่อไป
                - เสนอแนวทางการให้มีหน่วยงานรับรองคุณวุฒิจากการอบรมวิชาชีพ ในหลักสูตรต่างๆ ให้หน่วยงานอื่นยอมรับ ว่าเป็นผู้มีความสามารถตามสาขานั้นๆ
                - สร้างเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพให้กับประชาชนในท้องถิ่นของตนเองและพื้นที่ใกล้เคียง โดยสร้างระบบความร่วมมือ ให้มีพื้นที่แหล่งการเรียนรู้หรือขยายขอบเขตเพิ่มขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นการระดมทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้เพื่อการศึกษา ไม่รอรับงบประมาณจากส่วนกลางอย่างเดียว

             2. การสร้างเครือข่ายและการจัดหาทรัพยากรเพื่อการศึกษา 
                  - ประชาสัมพันธ์การมีส่วนได้จากการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคล จากการมีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์สินช่วยเหลืองานด้านการศึกษาให้กับวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบของสำนักงานสรรพากร เป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมาจัดการให้สอดคล้องกับการศึกษา
                 - สนับสนุนโครงการโรงเรียนในโรงงาน (Work-study program) กับภาคเอกชน ที่เป็นโรงงานสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสาขาการเรียนที่เปิดทำการสอนในวิยาลัย หรือเพิ่มการมีส่วนร่วมกับโรงงานในการเข้าฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาภาคปกติ เป็นการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา
                 - นำเสนอโครงการการพัฒนาการศึกษาในวิทยาลัยต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา ทั้งภาครัฐและร้านค้าเอกชน เพื่อขอรับการสนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณ





            3. การจัดระบบการศึกษาอาชีวศึกษาสู่สังคมอาเซียน
                  - เสนอการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนสายอาชีพ ในการเรียนรู้และศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. กับนักเรียนนักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน                    
                  - สนับสนุนการศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการทีเกี่ยวกับรายวิชาการสอนของครูแต่ละแผนกวิชา ในประเทศที่มีความร่วมมือในภูมิภาค ASEAN และประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิต ตามรายวิชาที่ต้องการของครู
                  - จัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนภาษาทางด้านเทคโนโลยี ตามสาขาวิชา เช่น ภาษาโปรแกรม ซี เอ็น ซี สร้างครูแกนนำในแผนกวิชา ให้มีความสามารถมากขึ้น
                  - จัดให้มีการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เป็นหลักสูตรเฉพาะ ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในวิทยาลัย  เพื่อพัฒนาตนเองและทดสอบความสามารถด้านภาษา  นำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนนักศึกษาขณะทำการสอนทุกรายวิชา เป็นการเตรียมนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในอาเซียน

              4. การใช้เทคโนโลยี ICT เพื่อการศึกษา 
                   - จัดการติดตั้งอุปกรณ์และดำเนินการด้านการพัฒนาระบบเครือข่ายความเร็วสูง ในราคาที่ประหยัด ที่สามารถอำนวยผลด้านการเรียนการสอนตามความจำเป็นบางสาขาวิชาให้พอเพียง รวมทั้งนำสื่อบทเรียนที่ช่วยสร้างความเข้าใจในการเรียน มาสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทันต่อเหตุการณ์ตามยุคสมัย และสามารถใช้ได้นานกว่า 5 ปี ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก ทั้งระบบ Wired & Wireless เช่น ADSL หรือระบบ 3G หรือระบบที่สูงกว่านั้น
                   - จัดระบบการเรียนตามความพร้อมของผู้เรียนไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยการออกแบบเนื้อหาการเรียนไว้ในลักษณะต่างๆ แล้วเพิ่มช่องทางในการเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้มากขึ้นและมีความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึง ด้วยศักยภาพของระบบเทคโนโลยี ในปัจจุบัน
                   - เพิ่มโอกาสและพัฒนาความสามารถด้าน ICT literacy ให้กับครูอาจารย์ทุกคน ในทุกสาขาวิชาต่างๆตามระดับการสอน จัดหางบประมาณมาใช้ในการจัดระบบการสื่อสาร Satellite TV, Subscribed TV ตามความเหมาะสมมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา การเรียนรู้ของครูและผู้เรียน

             5. การจัดทำโครงการการพัฒนาครูอาชีวศึกษา
                  - พัฒนาครูด้านวิชาการตามสาขาวิชาชีพเฉพาะ ด้วยการอบรม ศึกษางาน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพื่อให้เกิดความชำนาญและปรับปรุงสาระความรู้ที่สำคัญอยู่เสมอ ไม่ได้เน้นวิธีการสอนเพียงอย่างเดียว ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพครู อาจารย์ บุคลากรทางด้านการศึกษา
                  - สร้างความเข้มแข็งในระบบราชการ ตามบทบาทของครู ให้ตระหนักในหน้าที่ในการสร้างเยาวชนสู่การเจริญเติบโตเป็นกำลังของชาติ แยกแยะการทำงานระหว่างงานภาครัฐกับงานด้านการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ให้เพียงบางกลุ่ม สนับสนุนการจัดองค์กรด้านส่งเสริมระบบคุณธรรม (Merit system) จัดการกับระบบพรรคพวกทางการเมือง (Spoil system) ไม่ให้สามารถเข้าแทรกแซงระบบการศึกษา ได้


                  - จัดทุนการศึกษาให้แก่บุคคลที่จะมาเป็นครูอาจารย์ (Scholarship) โดยการดึงดูด จูงใจบุคคลเข้าสู่การเป็นครูอาชีพ จัดตั้งงบประมาณสำหรับสนับสนุนการฝึกอบรมตามความต้องการและหากจำเป็นก็จัดให้ครูผู้ที่มีคุณสมบัติตามโครงการให้ได้รับการพัฒนาด้านนั้นๆ เพิ่มเติม ทำการพัฒนาครูให้เป็นผู้ได้รับความรู้และมีประสบการณ์มากขึ้นในเชิงรุก ไม่ต้องรอให้มีผู้เสนอขึ้นมา
                   - เสนอแผนการปรับค่าตอบแทนที่เป็นกลางอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาฐานเงินเดือนปัจจุบัน ให้มีความสอดคล้องมากขึ้น หรือเสนอค่าตอบแทนสำหรับครูผู้มีผลงานดี ในลักษณะเงินพิเศษจากการสร้างผลงานในเรื่องต่างๆ เช่น มีผลงานสิ่งประดิษฐ์เป็นที่ยอมรับ หรือมีผลงานการทำวิจัยที่สร้างคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรส่วนรวม

สรุป ข้อเสนอการบริหารระบบการศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

             จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของสังคม การแข่งขันทางการเมืองที่รุนแรง ระบบเศรษฐกิจที่ขึ้นๆลงๆของไทยในปัจจุบัน รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาสนองต่อความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสาร ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย องค์กรใดมีข้อมูลที่ทันสมัยมีเทคโนโลยี ที่ล้ำหน้า ย่อมหมายถึงการเป็นผู้นำในเชิงธุรกิจ ซึ่งหลายสิ่งที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อการศึกษาในประเทศ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดระบบการศึกษาด้านอาชีพ ประเภทช่างอุตสาหกรรม เป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็งในเรื่องการมีวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองสื่อสารกันหลายภาษา การจัดการเรียนการสอนดำเนินการตามนโยบายของส่วนกลางและท้องถิ่น จากการวิเคราะห์ระบบการศึกษาด้วย PEST จึงสรุปแนวทางการบริหาร ดังนี้

            1. การปรับโครงสร้างการศึกษา เสนอให้ดำเนินการดังนี้
                 1.1 จัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ในกลุ่มจังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์
                 1.2 ผู้อำนวยการสถาบัน บริหารจัดการด้านการศึกษากระชับ รวดเร็ว พัฒนาครูและผู้เรียน
                 1.3 จัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ในด้านการประกอบอาชีพ เพิ่มเติม

            2. การสร้างเครือข่ายและการจัดหาทรัพยากรเพื่อการศึกษา 
                 2.1 ประชาสัมพันธ์ต่อชุมชนในการบริจาคทรัพย์สินเพื่อการศึกษา สามารถลดภาษีได้
                 2.2 จัดโครงการความร่วมมือกับโรงงาน เพิ่มขึ้น นำนักศึกษาไปเรียนและฝึกอาชีพได้
                 2.3 จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนการศึกษา กับองค์กรต่างๆในท้องถิ่น

            3. การจัดระบบการศึกษาอาชีวศึกษาสู่สังคมอาเซียน
                 3.1 จัดหลักสูตรสายอาชีพให้กับนักเรียนนักศึกษา รองรับกลุ่มประเทศในอาเซียน
                 3.2 สร้างหลักสูตรการแลกเปลี่ยนตัวบุคคลในการเรียนรู้ ระหว่างประเทศ
                 3.3 พัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นให้กับครู



            4. การใช้เทคโนโลยี ICT เพื่อการศึกษา 
                 4.1 จัดการนำระบบเทคโนโลยีที่สำคัญมาใช้ในการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา
                 4.2 สร้างรูปแบบการเรียนรู้ทางอิเลคทรอนิกส์ และเพิ่มช่องทางการเข้าเรียนให้กลากหลาย
                 4.3 พัฒนาครูให้มีความรู้ด้าน ICT ให้มากขึ้น

            5. การจัดทำโครงการการพัฒนาครูอาชีวศึกษา
                 5.1 พัฒนาครูให้มีความชำนาญในสาขาวิชาชีพ ด้วยการอบรม ศึกษา เรียนรู้ใหม่
                 5.2 สร้างความเข้มแข็งของระบบครู ให้สอนอย่างต่อเนือง แม้ว่าการเมืองจะเปลี่ยนไป
                 5.3 สนับสนุนให้ครูมีความก้าวหน้า มีรายได้จากผลงานการสร้างสรรค์ เป็นที่ประจักษ์

             สรุปโดย  นายรวิกร  แสงชำนิ  
                         นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา
                         มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
                         วันที่  22  มิถุนายน  2555

ไม่มีความคิดเห็น: