วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อาชีวศึกษา กรณีจังหวัดสุรินทร์

การอาชีวศึกษา : กรณีอาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์
นายรวิกร  แสงชำนิ
Mr. Ravikorn   Saengchamni
Atomrono @ GMAIL.COM
คำสำคัญ   อาชีพ  ประเภทวิทยาลัย  ช่างอุตสาหกรรม  อาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์


 

ความนำ
                โลกในปัจจุบันเป็นโลกสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีความเจริญด้านเทคโนโลยี และ
การเปลี่ยนแปลง  แต่ละประเทศจำเป็นต้องปรับตัวให้เกิดความเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมในการที่จะเผชิญกับสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งสิ่งสำคัญในการเตรียมการ คือ การพัฒนาคุณภาพของคน การพัฒนาคนโดยการให้การศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ปรับตัวให้ทันต่อสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดจนให้มีคุณธรรม จริยธรรม ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2543)  การพัฒนาคนหรือทรัพยากรมนุษย์  ควรดำเนินการบนพื้นฐานของวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น อันจะก่อให้บุคคลหรือคนนั้นค่อยๆเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับสถานที่ที่คนๆนั้นอาศัยอยู่ เช่น จังหวัด อำเภอ เป็นต้น (อัจฉรา  ภาณุรัตน์. 2549)  สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพให้ผู้เรียนมีความสามารถด้านการแก้ปัญหาวิชาชีพ มีบุคลิกภาพ มีคุณธรรม ปฏิบัติงานช่าง เป็นหัวหน้างานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ มีความสอดคล้องกับตลาดแรงงาน สังคม เศรษฐกิจ เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถปฏิบัติงานในระดับช่างกึ่งฝีมือ ช่างฝีมือ และช่างชำนาญการได้อย่างดี (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา. 2551)
                คนส่วนหนึ่งเมื่อได้ยินว่า “เด็กอาชีวะ” ก็จะมองภาพว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา เกเร ไม่มีหนทางไปจึงมาเรียนอาชีวะ หรือมองว่า “เด็กอาชีวะ” เป็นเด็กเกรด 2 เมื่อมีการเสนอข่าวเด็กตีกันก็บอกว่าเป็น ”เด็กอาชีวะ” หากได้มีการติดตามข่าวอย่างละเอียดแล้วจะพบว่ามีปัญหาเพียงไม่กี่โรงเรียน ซึ่งผู้ใหญ่ในโรงเรียนเหล่านั้นก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขไปแล้ว แต่สำหรับภาพที่เป็นส่วนดีของเด็กอาชีวะจะมีส่วนน้อยที่รู้จัก หากว่ามีการติดตามต่อไปอีกจะพบว่า เด็กอาชีวะเองมีจิตอาสาทำประโยชน์แก่สังคมมากมาย เช่น การซ่อมบ้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม การช่วยเหลือขนย้ายอุปกรณ์ให้กับพี่น้องประชาชน จากเหตุการณ์ภัยน้ำท่วม เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ที่ผ่านมา (นริศรา  ชวาลตันพิพัทธ์.  2553)  ความภาคภูมิใจของอาชีวศึกษาที่กล่าวว่า “อาชีวะศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” แม้จะมีข่าวที่กระทบต่อภาพรวมของอาชีวศึกษา กรณีการทะเลาะวิวาทของนักเรียนบางกลุ่มซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ในปี 2553 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 1,114,000 คน แยกเป็นอาชีวะศึกษา 694,000 คน เอกชน 375,000 คน และจากวิชาชีพอื่น 45,700 คน  ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต ภารกิจการสร้างคน สร้างงานอาชีพ จึงเป็นส่วนสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้มีความสมบูรณ์ในการดำรงชีวิตของประชาชน  ในปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป อาชีวศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถของคนในประเทศชาติต่อไป (ศศิธารา  พิชัยชาญณรงค์.  2553)


 

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
                การเป็นองค์กรหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพมีมาตรฐาน สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมส่งผลในเรื่องความสามารถด้านการแข่งขันกับนานาประเทศ เป็นวิสัยทัศน์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่กำหนดไว้  นอกจากนั้นมีพันธกิจในการจัดฝึกอบรมวิชาชีพให้มีคุณภาพการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง เสมอภาค การจัดให้มี
การวิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพต่อไป (สำนักงานคณะกรรมการ
การอาชีวศึกษา. 2550)  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (2539 : 939) ให้ความหมายของคำว่า
อาชีพ  อาชีว  อาชีวะ หมายถึง การเลี้ยงชีวิต การทำมาหากิน งานที่ทำประจำเพื่อเลี้ยงอาชีพ  อาชีวศึกษา  หมายถึง การศึกษาที่มุ่งไปทางช่างฝีมือ  จากความเชื่อที่ว่า  การจัดการอาชีวศึกษาเป็นของคนไทยทุกคนเพราะทุกคนจะต้องมีการประกอบอาชีพจึงต้องมีการศึกษาอบรมตามสถานที่ที่ต้องการ และการศึกษาจะต้องเกี่ยวข้องไปตลอดชีพของคนเรา ดังนั้นการจัดการศึกษาอาชีพจะต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อผลิตช่างในการไปประกอบอาชีพให้ได้มาตรฐานโดยกำหนดคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาให้ครอบคลุม (เฉลิมศักดิ์  นามเชียงใต้.  2544)  มาตรฐานการอาชีวศึกษากำหนดไว้ 6 มาตรฐาน ได้แก่ ด้านผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาวิชาชีพ  หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  การบริการวิชาชีพสู่สังคม  นวัตกรรมและการวิจัย  ภาวะผู้นำและการจัดการ (วีระศักดิ์  วงษ์สมบัติ. 2549)   L. Efison  Munjanganja  หัวหน้าศูนย์เครือข่ายอาชีวศึกษานานชาติ ยูเนสโก กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เมื่อเดือนเมษายน 2550 ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ว่า จากการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของประเทศไทยขณะนี้เห็นว่าได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการเอกชน นักศึกษาสามารถหารายได้ระหว่างเรียน การจัดการเรียนมีการพัฒนาและครบวงจร สามารถเป็นศูนย์กลางและเป็นฐานในการพัฒนาการอาชีวศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี (Vocational  Magazine. 2550)  ในปีการศึกษา 2553 การอาชีวศึกษาจัดหลักสูตรประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ช่างอุตสาหกรรม  พาณิชยกรรมและบริหารธุรกิจ ศิลปกรรม  คหกรรม  เกษตรกรรม  การประมง  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสิ่งทอ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง  มีสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดจำนวน  415 สถานศึกษาในทุกภาคทั่วประเทศ  สถานศึกษาประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยพาณิชยกรรม เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการต่อเรือ วิทยาลัยศิลปกรรม  วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว  วิทยาลัยประมง  กาญจนาภิเษก  วิทยาลัยช่างทองหลวง วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ และศูนย์ฝึกอบรม (สำนักอำนวยการ. 2553)  จากศักยภาพของอาชีวศึกษา ที่มีอยู่หลายประเภทวิชา ทั้งอุตสาหกรรม คหกรรม ศิลปกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม เป็นต้น ที่ได้จัดการเรียนการสอน จำนวนกว่า 120 สาขาวิชา 317 สาขางาน
 ในปีการศึกษา 2553 นี้  นโยบายที่จะต้องดำเนินการต่อไป เช่น ด้านการเรียน ด้านการขับเคลื่อนการปฏิรูปอาชีวศึกษา ปี 2552–2561 การจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิทางวิชาชีพ ความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพ เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยให้ความสำคัญกับทักษะของนักศึกษา เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนระหว่างสามัญกับอาชีวศึกษา คือ 40 : 60 ในปี พ.ศ. 2561 เป็นความท้าทายของอาชีวศึกษา จะต้องสานต่อภารกิจที่สำคัญในการปรับภาพลักษณ์ที่ดี โดยการเน้นคุณภาพด้านทักษะฝีมือให้ได้มาตรฐาน ทั้งในประเทศและระดับสากล นักศึกษาจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองดีของสังคม ยกตัวอย่างการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย เมื่อเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รวมทั้งภัยหนาวจะมาเยือนในปลายปี 2553 นี้ นักศึกษาอาชีวะ จะต้องพร้อมใจกันออกไปให้ความช่วยเหลือ ภารกิจอาชีวศึกษาร่วมด้วยช่วยประชาชน และศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center) และในระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด อาชีวศึกษาก็เตรียมดำเนินการพัฒนาอาชีพ การซ่อมบำรุงเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือในการประกอบอาชีพ การซ่อมแซมที่พักอาศัย  ภารกิจเหล่านี้ จะเป็นการนำความรู้ของนักศึกษาเอง มาแสดงออกและปฏิบัติการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในการช่วยเหลือประชาชน เป็นการฝึกทักษะและสร้างประสบการณ์ โดยเฉพาะการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ปลูกฝังความมีจิตสาธารณะ อันจะส่งผลในการสร้างภาพลักษณ์อันดีงามของการอาชีวศึกษาให้ดียิ่งขึ้น (ศศิธารา  พิชัยชาญณรงค์. 2553)


 

อาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์
          โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกด้าน ซึ่งหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาอยู่เสมอ การอาชีวศึกษาเป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ต้องมีการปรับปรุงกลยุทธ์ให้มีความสอดคล้องและความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรม (สงวน บุญปิยทัศน์. 2544)
                 สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยการอาชีพสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและดำเนินการด้านอาชีวศึกษา มีสถานศึกษา ในสังกัด จำนวน 7 สถานศึกษา จัดการเรียนการสอนด้านวิชาชีพในระดับ ปวช. ปวส. และหลักสูตรระยะสั้น  สถานศึกษาเปิดทำการสอนในแผนกวิชาต่างๆ ตามศักยภาพและความต้องการของชุมชนนั้น ๆ  ซึ่งในปี 2553  มีสถานศึกษาและจำนวนแผนกวิชา ดังนี้  วิทยาลัยเทคนิค ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง เปิดการสอน 11 แผนกวิชา มีครู บุคลากร 245 คน นักศึกษา 5,345 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษา อำเภอเมือง มีจำนวนครู บุคลากร 108 คน 12 แผนก นักศึกษา 2,950 คน วิทยาลัยสารพัดช่าง อำเภอเมือง6 แผนกวิชา ครู บุคลากร 102 คน นักศึกษา 1,250 คน วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม อำเภอท่าตูม 9 แผนกวิชา ครู บุคลากร 97 คน นักศึกษา 2,035 คน วิทยาลัยการอาชีพปราสาท อำเภอปราสาท 6 แผนกวิชา ครู บุคลากร 90 คน นักศึกษา 1,340 คน วิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ อำเภอศีรขรภูมิ  7 แผนกวิชา ครู บุคลากร 84 คน นักศึกษา 1,631 คน และวิทยาลัยการอาชีพสังขะ 7 แผนกวิชา ครู บุคลากร 52 คน นักศึกษา 1,428 คน (อาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์. 2553)           
                แม้ว่าภาพลักษณ์ส่วนหนึ่งที่ประชาชนเข้าใจว่า นักศึกษาอาชีวศึกษาชอบก่อเรื่องทะเลาะวิวาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งจะพบในเขตกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัดเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่ออาชีวะส่วนใหญ่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นริศรา  ชวาลตันพิพัทธ์) ได้กล่าวไว้  แต่ในส่วนของอาชีวศึกษาแต่ละจังหวัดก็ได้ดำเนินจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม เข้าช่วยเหลือชุมชน ดังเช่น  โครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) เมื่อเดือนเมษายน 2552 วิทยาลัยเทคนิคได้ดำเนินงานในเขต อบต. นาบัว ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ในการนำคณะครู บุคลากร นักศึกษา ดำเนินงานการบริการ ซ่อมบำรุงและให้ความรู้ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน การฝึกอบรมให้ความรู้การประกอบอาชีพ ให้สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ (วโรภาส  ศรีพันธ์. 2552)  การดำเนินงานจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์ นอกจากภารกิจหลักในการสอนวิชาชีพให้กับนักศึกษาตามสาขาต่าง ๆ แล้ว ยังได้ดำเนินการตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เช่น โครงการอาชีวศึกษาร่วมด้วยช่วยประชาชน โครงการความร่วมมือกับสถานประกอบการ โครงการพิเศษการให้ความรู้ด้านอาชีพแก่ประชาชน โครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน นอกจากนั้น อาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินโครงการอาชีวศึกษาก้าวไกลสู่สากล เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2551 ณ ศูนย์การค้าบิ๊กซี จังหวัดสุรินทร์ ให้บริการประชาชนด้านอาชีพ เช่น บริการซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ เครื่องมือการประกอบอาชีพ การฝึกอบรมอาชีพอิสระ เช่น การทำสบู่สมุนไพร การแกะสลัก การทำขนม การทำผ้าบาติก   
การชุบเงินชุบทอง เป็นต้น
           วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ จัดตั้งเมื่อปี  พ.ศ.  2481  เป็นสถานศึกษาที่เปิดทำการเรียนการสอนประเภทช่างอุตสาหกรรม ประกอบด้วยแผนกช่างยนต์  แผนกช่างไฟฟ้า แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์  แผนกช่างกลโรงงาน  แผนกช่างโลหะการ  แผนกช่างเทคนิคการผลิต แผนกช่างโยธา แผนกช่างสำรวจ แผนกช่างก่อสร้าง แผนกช่างเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หลักสูตรการศึกษา 2 ระดับคือ  ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ใช้เวลาเรียน 3 ปี รับนักศึกษาที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนมัธยมในจังหวัดสุรินทร์  และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  ใช้เวลาเรียน 2-3 ปี รับผู้จบปวช. หรือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ามาเรียน  ในปีการศึกษา 2553 มีจำนวนนักศึกษารวม  ทั้งสิ้น 5,345 คน  ปัจจุบันระบบจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ เป็นรับการยอมรับของประชาชนผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป จากประสบการณ์ด้านการสอนมากว่า 20 ปี ได้พบเห็นพัฒนาการของนักศึกษาแต่ละปีที่จบการศึกษาออกไป ส่วนใหญ่มีความประพฤติอยู่ในเกณฑ์ดี  จะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การทะเลาะกัน ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ แต่อย่างใด.


 

        “นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ส่วนใหญ่มีความประพฤติเรียบร้อยดี เนื่องจากมีครู  อาจารย์ คอยควบคุม  ดูแล ติดตาม กรณีนักศึกษาบางคนที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม โดยเชิญผู้ปกครองของนักศึกษาคนนั้น มาพบเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาทันที ”
นายชุติพนธ์  กลัดอยู่
รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักศึกษา
         “การปกครองนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค  ทำการบอกกล่าวกันได้ง่าย มีความเรียบร้อยในระดับดี  แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งแวดล้อมมีความเจริญ อาจทำให้นักศึกษาเปลี่ยนตามไปด้วย  หลักสูตรการเรียนก็มีส่วนทำให้ผลการเรียนของนักศึกษาต่ำลงด้วย เนื่องจากผู้เขียนหลักสูตรไม่ได้ทำการปฏิบัติ  เขียนหลักสูตรไว้สูงเกินไป”
                               นายกิติ  สุวรรณวงษ์
ครูแผนกช่างไฟฟ้า  
                “ผมทำงานอยู่ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์  มา 35 ปี  นักศึกษาส่วนใหญ่จะมีความประพฤติดี  จะมีเกเรบ้างไม่กี่คน  เนื่องสภาพทางครอบครัวและปัญหาส่วนตัว  ภาพส่วนใหญ่ของวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ มีการช่วยเหลือ พัฒนาสังคมหมู่บ้านดีขึ้น”
ลุงมณี  สุขประจำ
นักการภารโรง
          “นักศึกษาในวิทยาลัยเทคนิค มีการจัดกิจกรรมมากกว่าการเรียนทางวิชาการ ความกล้าในการแสดงออกน้อย ควรให้นักศึกษารุ่นพี่ทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ช่วยเหลือน้อง”
นางจันทร์สม  ว่าเร็วดี
ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้วิทยาลัย


 

สรุป
           สังคมยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีความเจริญด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลง แต่ละประเทศจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมในการที่จะเผชิญกับสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งสิ่งสำคัญในการเตรียมการ คือ การพัฒนาคุณภาพของคน การพัฒนาคนโดยการให้การศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ คิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา    การศึกษาในโลกปัจจุบัน จะเห็นว่า การศึกษาด้านวิชาชีพมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศของแต่ละประเทศ และเป็นปัจจัยในการพัฒนาคนให้ก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงควรมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้อาชีวศึกษาแต่ละจังหวัด ได้บริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ เพื่อผลิตนักศึกษาให้จบออกไปเป็นกำลังงานสำคัญ และตรงต่อความต้องการของโรงงาน  จากความเชื่อที่ว่าการจัดการอาชีวศึกษาเป็นของคนไทยทุกคนเพราะทุกคนจะต้องมีการประกอบอาชีพจึงต้องมีการศึกษาตามสถานที่ที่ต้องการ และการศึกษาจะต้องเกี่ยวข้องไปตลอดชีพของคนเรา ดังนั้นการจัดการศึกษาอาชีพจะต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อผลิตช่างในการไปประกอบอาชีพให้ได้มาตรฐาน   เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียน ระหว่างสามัญกับอาชีวศึกษา คือ 40 : 60 ในปี พ.ศ. 2561 เป็นความท้าทายของอาชีวศึกษา จะต้องสานต่อภารกิจที่สำคัญในการปรับภาพลักษณ์ที่ดี โดยการเน้นคุณภาพด้านทักษะฝีมือให้ได้มาตรฐาน ทั้งในประเทศและระดับสากล นักศึกษาจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองดีของสังคม โดยเฉพาะการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ปลูกฝังความมีจิตสาธารณะ อันจะส่งผลในการสร้างภาพลักษณ์อันดีงามของการอาชีวศึกษา  ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต  ภารกิจการสร้างคน สร้างงานอาชีพ จึงเป็นส่วนสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยเพิ่มพูนรายได้ในการดำรงชีวิตของประชาชน  ในปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป  อาชีวศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถของคนในประเทศชาติต่อไป


 

Interviews
นายชุติพนธ์  กลัดอยู่.   (2553  :  ธันวาคม  6)   รองผู้อำนวยการ  อายุ 59 ปี.     สัมภาษณ์ 
นายกิตติ  สุวรรณวงษ์.    (2553  :  ธันวาคม  7)  ครูแผนกช่างไฟฟ้า  อายุ  56  ปี.    สัมภาษณ์ 
นายมณี  สุขประจำ.   (2553  :  ธันวาคม 7)   นักการภารโรง  อายุ 58 ปี .    สัมภาษณ์
นางจันทร์สม  ว่าเร็วดี.   (2553  :  ธันวาคม  5)  ประชาชน อายุ 56 ปี.    สัมภาษณ์


 

บรรณานุกรม
เฉลิมศักดิ์  นามเชียงใต้.    (2544).   เล่มนี้เป็นตำนาน.   มหาสารคาม : ห.จ.ก. อภิชาตการพิมพ์.
นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์.    (2553 : พฤศจิกายน).  “สัมภาษณ์พิเศษ”.  สารคนพันธ์ R.
          ฉบับที่1  :   หน้าที่ 14.
ราชบัณฑิตยสถาน.    (2539).    พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525.   ครั้งที่ 6.   
          กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
วโรภาส  ศรีพันธุ์.   (2552).   “สารจากผู้อำนวยการ.”    STC  ผลการปฏิบัติงานศูนย์ซ่อมสร้าง
          เพื่อชุมชน.   วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์.   สุรินทร์ : รุ่งธนเกียรติออฟเซ็ท. 
วิจิตร  ติวันทิลา.     (2544).    “คำนิยม.”   ก้าวหน้าก้าวไกลสู่ ISO.  วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ 
           สุรินทร์ : รุ่งธนเกียรติออฟเซ็ท
วีระศักดิ์  วงษ์สมบัติ.   (2549).  “บทนำ.”   มาตรฐานการอาชีวศึกษา.   สำนักงานคณะกรรมการ
            การอาชีวศึกษา.   กรุงเทพฯ  :  คุรุสภาลาดพร้าว.
ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์.    (2553 : พฤศจิกายน).  “สัมภาษณ์พิเศษ”.  สารคนพันธ์ R.
           ฉบับที่1  :  หน้าที่ 3.
สงวน  บุญปิยพัศน์.    (2544).    “คำนิยม.”  ก้าวหน้าก้าวไกลสู่ ISO.   วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ 
            สุรินทร์ : รุ่งธนเกียรติออฟเซ็ท
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.   (2543) .   แนวทางการประกันคุณภาพภายใน 
           สถานศึกษาเพื่อพร้อมรับการประเมินภายนอก.  กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี.
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา.   (2551).   การอาชีวศึกษา.   กรุงเทพฯ : สำนัก
            อำนวยการ. 
อาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์.    (2551) .   “อาชีวศึกษาก้าวไกลสู่สากล”.   สุรินทร์ : รุ่งธนเกียรติ
          ออฟเซ็ท
อาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์.   (2553).    ข้อมูลอาชีวศึกษาจังหวัดสุรินทร์.   สุรินทร์ : วิทยาลัย
          การอาชีพสังขะ
อัจฉรา ภาณุรัตน์.   (2549).   เอกสารคำสอนรายวิชาท้องถิ่นศึกษา.   สุรินทร์ : รุ่งธนเกียรติ
          ออฟเซ็ท จำกัด.
L . Efison  Munjanganja.   (2550 : เมษายน).   “แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับการอาชีวศึกษา Unevoc.”
          Vocational  Magazine. :  ปีที่ 2.

 

ไม่มีความคิดเห็น: